วัตถูปมสูตร — เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติ เป็นอันหวังได้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

. วัตถูปมสูตร

ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า

 

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

 

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

[๙๒] พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมอง มลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด

เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติ เป็นอันหวังได้ ฉันนั้น

 

ผ้าที่บริสุทธิ์ สะอาด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใดๆ คือสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ ฉันใด

เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติ เป็นอันหวังได้ ฉันนั้น

 

(อุปกิเลส ๑๖)

[๙๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต

[คือ]

{} อภิชฌาวิสมโลภะ [ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง]

{} พยาบาท [ปองร้ายเขา]

{} โกธะ [โกรธ]

{} อุปนาหะ [ผูกโกรธไว้]

{} มักขะ [ลบหลู่คุณท่าน]

{} ปลาสะ [ยกตนเทียบเท่า]

{} อิสสา [ริษยา]

{} มัจฉริยะ [ตระหนี่]

{} มายา [มารยา]

{๑๐} สาเฐยยะ [โอ้อวด]

{๑๑} ถัมภะ [หัวดื้อ]

{๑๒} สารัมภะ [แข่งดี]

{๑๓} มานะ [ถือตัว]

{๑๔} อติมานะ [ดูหมิ่นท่าน]

{๑๕} มทะ [มัวเมา]

{๑๖} ปมาทะ [เลินเล่อ]

เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต

 

[๙๔] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตด้วยประการฉะนี้แล้ว ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

[๙๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุรู้ชัดว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ละอภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้แล้ว ในกาลนั้น เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน (แล)

เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักขิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ก็เพราะเหตุที่ส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ อันภิกษุนั้นสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ย่อมได้ความรู้แจ้งธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรม เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ และเพราะส่วนแห่งกิเลสนั้นๆ อันเราสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว ดังนี้

เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ

เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ

เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข

เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

 

[๙๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นแลมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ ถึงแม้จะฉันบิณฑบาตข้าวสาลีปราศจากเมล็ดดำ มีแกงมีกับมิใช่น้อย การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ก็ไม่มีเพื่ออันตรายเลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าอันเศร้าหมอง มลทินจับ ครั้นมาถึงน้ำอันใส ย่อมเป็นผ้าหมดจด สะอาด

อีกอย่างหนึ่ง ทองคำ ครั้นมาถึงปากเบ้า ย่อมเป็นทองบริสุทธิ์ ผ่องใส ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นแล มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ ถึงแม้จะฉันบิณฑบาตข้าวสาลีปราศจากเมล็ดดำ มีแกงมีกับมิใช่น้อย การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ก็ไม่มีเพื่ออันตรายเลย

[๙๗] ภิกษุนั้นมีใจประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน มีใจประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปยังทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ ด้านขวาง ทั่วโลกทั้งสิ้น โดยเป็นผู้หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกแห่ง

ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมรู้ชัดว่า สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวทรามมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งแห่งสัญญานี้มีอยู่ เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้อาบแล้วด้วยเครื่องอาบอันเป็นภายใน”

 

(การอาบน้ำในศาสนา)

[๙๘] ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม จะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกา เพื่อจะสรงสนานหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกร พราหมณ์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกา จักทำประโยชน์อะไรได้”

สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ “ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมากสมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมากพากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้

แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้

จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย

ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ

อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ

วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด {หมายถึงทำสิ่งสะอาดคือความดี เป็นกุศล ไม่ทำบาป} ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ

ดูกร พราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด

จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด

ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้ว จักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้”

 

(สุนทริกพราหมณ์บรรลุพระอรหัตต์)

[๙๙] ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด

พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ

ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด”

 

สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ท่านพระภารทวาชะครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่

รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ก็ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล

จบ วัตถูปมสูตรที่ ๗

อาจยคามยาปจยคามิธรรมสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย
ทสก-เอกาทสกนิบาต
อาจยคามยาปจยคามิธรรมสูตร

[๑๗๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง ธรรมอันเป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส และ ธรรมอันไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันเป็นไปในเพื่อสั่งสมกิเลสเป็นไฉน

() การฆ่าสัตว์

() การลักทรัพย์

() การผิดในหญิง {ทั่วไปมักแปลว่า ประพฤติผิดในกาม ซึ่งไม่ค่อยสื่อความหมายใกล้เคียง}

() การพูดเท็จ

() การพูดส่อเสียด {ยุยงให้แตกร้าว ให้แตกสามัคคี}

() การพูดคำหยาบ

() การพูดเพ้อเจ้อ {ไร้สาระ}

() ความโลภ {อยากได้ของผู้อื่น}

() ความพยาบาท {คิดปองร้ายผู้อื่น}

(๑๐) ความเข้าใจผิด {มิจฉาทิฏฐิ ส่วนใหญ่มักแปลว่า ความเห็นผิด แต่ถ้าแปลเป็นภาษาสมัยนี้ควรใช้คำว่า ความเข้าใจผิดมากกว่า}

นี้เรียกว่าธรรมอันเป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส”

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลสเป็นไฉน

() การไม่ฆ่าสัตว์

() การไม่ลักทรัพย์

() การไม่ผิดในหญิง

() การไม่พูดเท็จ

() การไม่พูดส่อเสียด

() การไม่พูดคำหยาบ

() การไม่พูดเพ้อเจ้อ

() ความไม่โลภ

() ความไม่พยาบาท

(๑๐) ความเข้าใจถูก

นี้เรียกว่าธรรมอันไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส”

จบสูตรที่ ๙

(๑๑) ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส

#เครื่องละชาติและชรา

(๑๑) ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของท่านชตุกัณณี

[๓๘๘] ท่านชตุกัณณีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วว่าพระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม ข้าแต่พระองค์ผู้มีญาณดังดวงตาอันเกิดพร้อมกับความตรัสรู้ ขอพระองค์จงตรัสบอกสันติบท ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์”

[๓๙๓] “พระผู้มีพระภาคทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป เหมือนพระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี ขอพระองค์ผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน โปรดตรัสบอกธรรม เครื่องละชาติและชราในภพนี้ ที่ข้าพระองค์พึงทราบได้ แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยเถิด”

[๓๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรชตุกัณณี ท่านเห็นแล้วซึ่งเนกขัมมะโดยความเกษม จงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลายเสีย กิเลส เครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ ควรสลัดเสีย อย่าได้มีแก่ท่านเลย”

[๔๐๔] กิเลสชาติใดในกาลก่อน ท่านจงเผากิเลสชาตินั้นให้เหือดแห้งไป กิเลสเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแล้วแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือ (รูปาทิสังขาร) ในท่ามกลาง ท่านจักเป็นผู้สงบแล้วเที่ยวไป”

[๔๐๙] ดูกรพราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ย่อมไม่มีแก่พระอรหันตขีณาสพ ผู้ปราศจากความกำหนัดในนามรูป โดยประการทั้งปวง”

พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยคร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกันกับท่านชตุกัณณีนั้น ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” และจิตของท่านชตุกัณณีนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและหนวดของท่านชตุกัณณีหายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต

ชตุกัณณีพราหมณ์นั้น เป็นภิกษุ ครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร นั่งประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ฉะนี้แล

 

จบ ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๑

(๑๐) กัปปมาณวกปัญหานิทเทส

#เมื่อห้วงกิเลสเกิดแล้ว ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกอย่างไร

(๑๐) กัปปมาณวกปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของท่านพระกัปปะ

[๓๖๖] ท่านกัปปะทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นฤทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในท่ามกลางสงสาร เมื่อห้วงกิเลสเกิดแล้ว เมื่อภัยใหญ่มีแล้ว ผู้อันชราและมัจจุถึงรอบแล้ว อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์ ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีก อย่างไร”

[๓๗๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรกัปปะ เราจะบอกธรรมเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางสงสาร เมื่อห้วงกิเลสเกิดแล้ว เมื่อภัยใหญ่มีแล้ว ผู้อันชราและมัจจุถึงรอบแล้ว ดูกรกัปปะ เราจะบอกธรรมเป็นที่พึ่งแก่ท่าน”

[๓๗๘] เราขอบอกนิพพาน อันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น ไม่ใช่ธรรมอย่างอื่น เป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุนี้นั้น ว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง”

[๓๘๓] พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด รู้ทั่วถึงนิพพานนั้นแล้ว เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ไปตามอำนาจแห่งมาร ไม่ไปบำรุงมาร”

พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยคร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกันกับท่านกัปปะนั้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” และจิตของท่านกัปปะนั้นพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและหนวดของท่านกัปปะหายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต

กัปปพราหมณ์นั้น เป็นภิกษุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร นั่งประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ฉะนี้แล

 

จบ กัปปมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๐

(๖) อุปสีวมาณวกปัญหานิทเทส

#พึงอาศัยอารมณ์ใดจึงข้ามโอฆะได้

() อุปสีวมาณวกปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของท่านอุปสีวะ

[๒๔๒] ท่านอุปสีวะทูลถามว่า “ข้าแต่พระสักกะ ข้าพระองค์เป็นผู้เดียว ไม่อาศัยแล้ว ไม่อาจข้ามโอฆะใหญ่ได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระสมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกอารมณ์ ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามโอฆะนี้ได้”

[๒๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกว่า “ดูกรอุปสีวะ ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งดูอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยสมาบัติอันเป็นไปว่า อะไรๆน้อยหนึ่งไม่มี ดังนี้แล้วจงข้ามโอฆะเถิด ท่านจงละกามทั้งหลาย เว้นจากความสงสัยทั้งหลาย พิจารณาดูความสิ้นไปแห่งตัณหา ตลอดคืนและวันเถิด”

[๒๕๒] ท่านอุปสีวะทูลถามว่า “ผู้ใดปราศจากความกำหนัดในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์อย่างยิ่ง ผู้นั้นไม่มีความหวั่นไหว พึงดำรงอยู่ในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น หรือหนอ”

[๒๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์อย่างยิ่ง ผู้นั้นไม่มีความหวั่นไหว พึงดำรงอยู่ในสัญญาวิโมกข์นั้น”

[๒๖๒] ท่านอุปสีวะ “ถ้าผู้นั้นไม่มีความหวั่นไหว พึงดำรงอยู่ในสมาบัตินั้น ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระสมันตจักษุ ผู้นั้นเป็นผู้พ้นแล้ว มีความเย็น พึงมีในสมาบัตินั้นนั่นแหละ แม้มากปี วิญญาณของบุคคลเช่นนั้นพึงมีหรือ”

[๒๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรอุปสีวะ เปลวไฟดับไปแล้วเพราะกำลังลม ย่อมถึงความไม่มี ไม่เข้าถึงความนับ ฉันใด มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงความไม่มี ไม่เข้าถึงความนับ ฉันนั้น”

[๒๗๑] ท่านอุปสีวะ “มุนีนั้นเป็นผู้ดับไปแล้ว หรือมุนีนั้นย่อมไม่มี หรือว่ามุนีนั้นเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยความเป็นผู้เที่ยง ขอพระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยดี พระองค์ทรงทราบธรรมนั้นแล้วแท้จริง”

[๒๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรอุปสีวะ บุคคลผู้ดับไปแล้วย่อมไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายพึงว่าบุคคลนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น เมื่อธรรมทั้งปวงอันบุคคลนั้นถอนเสียแล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งปวง บุคคลนั้นก็ถอนเสียแล้ว”

พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยคร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกันกับท่านอุปสีวะนั้น ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” และจิตของท่านอุปสีวะนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและหนวดของท่านอุปสีวะหายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต

อุปสีวพราหมณ์นั้น เป็นภิกษุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร นั่งประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของพวกข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ดังนี้

 

จบอุปสีวมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๖

วิภังคสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ หน้า ๒๑๔ 
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
วิภังคสูตรที่ ๑
ความหมายของอินทรีย์ ๕

[๘๕๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้

๕ ประการเป็นไฉน

คือ () สัทธินทรีย์

() วิริยินทรีย์

() สตินทรีย์

() สมาธินทรีย์

() ปัญญินทรีย์

[๘๕๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต ว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่าสัทธินทรีย์

[๘๖๐] ก็วิริยินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่าวิริยินทรีย์

[๘๖๑] ก็สตินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตัวอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งกิจที่กระทำ และคำที่พูดแม้นานได้ นี้เรียกว่าสตินทรีย์

[๘๖๒] ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำซึ่งนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่าสมาธินทรีย์

[๘๖๓] ก็ปัญญินทรีย์เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา เครื่องกำหนดความเกิดความดับอันประเสริฐ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์ โดยชอบ นี้เรียกว่าปัญญินทรีย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล”

จบ สูตรที่ ๙