มหาตัณหาสังขยสูตร — วิญญาณย่อมแล่นไป เป็นมิจฉาทิฐิ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย
มูลปัณณาสก์
. มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก

หมวด : ทิฐิ / ศีล / ปฏิจจสมุปบาท / อินทรีย์สังวร / นิวรณ์ ๕ / สมาธิ / สมุทัย / นิโรธ

บทสำคัญ : ทิฐิลามก / มิจฉาทิฐิเกี่ยวกับวิญญาณ / เข้าใจผิดว่าวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด / วิญญาณไม่ได้ท่องเที่ยวไป / ว่าด้วยวิญญาณ / ปฏิจจสมุปบาท / ว่าด้วยสัตว์ / ศีล / สมาธิ / น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย

สารบัญความเกิดแห่งวิญญาณ / ขันธ์ ๕ / อาหาร ๔ อย่าง / ปฏิจจสมุปบาท / การพิจารณา สัตว์ เรา กับอดีต อนาคต ปัจจุบัน / ทารกเกิดเพราะปัจจัย ๓ ประการ / ความกำหนัดในรูปเสียงกลิ่นรส ฯลฯ / ศีลขันธ์ / อินทรีย์สังวร / สติสัมปชัญญะ / นิวรณ์ ๕ / ฌาน / ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น


[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร (บุตรชาวประมง) มีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น”

ภิกษุมากรูปด้วยกันได้ฟังว่า ภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตร มีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้ว ถามว่า “ดูกร ท่านสาติ ได้ยินว่า ท่านมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ”

เธอตอบว่า “ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง”

ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตรจากทิฏฐินั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ดูกร ท่านสาติ ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย

ดูกร ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี”

ภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตรอันภิกษุเหล่านั้น ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่อย่างนี้ก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอันลามกนั้นรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายไม่อาจเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิ

[๔๔๑] เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรจากทิฏฐินั้นได้จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น

ครั้งนั้น พวกข้าพระองค์เข้าไปหาสาติภิกษุแล้ว ถามว่า

ดูกร ท่านสาติ ได้ยินว่าท่านมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ

เมื่อพวกข้าพระองค์ถามอย่างนี้ สาติภิกษุได้บอกพวกข้าพระองค์ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง

ในลำดับนั้น พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า

ดูกร ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย

ดูกร ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุอันพวกข้าพระองค์ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่ แม้อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอันลามกนั้น รุนแรง กล่าวอยู่ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น จึงมากราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค”

[๔๔๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้วตรัสว่า “ดูกร ภิกษุ เธอจงมา เธอจงเรียกสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร ตามคำของเราว่า ดูกร ท่านสาติ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน”

ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาสาติภิกษุ แล้วบอกว่า “ดูกร ท่านสาติ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน”

สาติภิกษุรับคำภิกษุนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกร สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ”

สาติภิกษุทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกร สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

สาติภิกษุทูลว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว ในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ความเกิดแห่งวิญญาณ }

“ดูกร โมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกร โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกร โมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน”

(ตรัสสอบถามเรื่องสาติภิกษุผู้มีความเห็นผิดนั้น)

[๔๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนี้จะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้อนี้จะมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร นั่งนิ่ง กระดาก คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร มีความเป็นดังนั้นแล้ว จึงตรัสกะเธอว่า “ดูกร โมฆบุรุษ เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุ กล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่พวกข้าพระองค์ โดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงอย่างนี้ ถูกแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยาย เป็นเอนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ก็แต่สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนี้ กล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ความเห็นนั้นของโมฆบุรุษนั้น จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ)

[๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ อาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณ อาศัยจักษุ {ตา} และรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยโสต {หู} และเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยฆานะ {จมูก} และกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยชิวหา {ลิ้น} และรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะ {สัมผัสทางกาย} ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยมนะ {ใจ} และธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ

เปรียบเหมือนไฟ อาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ

ไฟ อาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้

ไฟ อาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า

ไฟ อาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า

ไฟ อาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟโคมัย

ไฟ อาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ

ไฟ อาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ

ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆเกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณ อาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ว่าด้วย ขันธ์ ๕ }

[๔๔๕] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อม เห็น ขันธปัญจก {ขันธ์ ๕} ที่เกิดแล้ว หรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาคเธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า ขันธปัญจกนั้น เกิด เพราะอาหาร หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้นหรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจกนี้ มี หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจก เกิดเพราะอาหาร นั้น ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค หากว่า เธอทั้งหลาย พึงติดอยู่ เพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถือเป็นของเราอยู่ ซึ่งทิฏฐินี้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) เธอทั้งหลายพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันสลัดออก มิใช่แสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันถือไว้ บ้างหรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค หากว่า เธอทั้งหลาย ไม่ติดอยู่ ไม่เพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถือเป็นของเราอยู่ ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงรู้ธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันสลัดออก ไม่ใช่แสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันถือไว้ บ้างหรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ปัจจัยแห่งความเกิด)

[๔๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความตั้งอยู่แห่งเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง

อาหาร ๔ อย่าง เป็นไฉน

อาหาร ๔ อย่าง คือ

กวฬิงการาหาร อันหยาบ หรือละเอียด (เป็นที่ ๑)

ผัสสาหาร เป็นที่ ๒

มโนสัญเจตนาหาร เป็นที่ ๓

วิญญาณาหาร เป็นที่ ๔

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นชาติ มีตัณหาเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นชาติ มีเวทนาเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นสมุทัย มีผัสสะเป็นชาติ มีผัสสะเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นสมุทัย มีสฬายตนะเป็นชาติ มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

สฬายตนะ มีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นสมุทัย มีนามรูปเป็นชาติ มีนามรูปเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นามรูปนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นสมุทัย มีวิญญาณเป็นชาติ มีวิญญาณเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นสมุทัย มีสังขารเป็นชาติ มีสังขารเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารทั้งหลายนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นชาติ มีอวิชชาเป็นแดนเกิด”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ปฏิจจสมุปบาท }

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

สังขารทั้งหลายมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย

นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย

ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย

อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย

ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย

ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย

ด้วยประการฉะนี้แล ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้”

 

[๔๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็ข้อว่า ชราและมรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัยนั่นแล ชราและมรณะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา และมรณะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภพเป็นปัจจัยนั่นแล ชาติจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยนั้นแล ภพจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะตัณหาเป็นปัจจัยนั่นแล อุปาทานจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเวทนาเป็นปัจจัยนั้นแล ตัณหาจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะผัสสะเป็นปัจจัยนั่นแล เวทนาจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระผู้เจริญ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยนั่นแล ผัสสะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะนามรูปเป็นปัจจัยนั่นแล สฬายตนะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนั่นแล นามรูปจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัยนั่นแล วิญญาณจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแล สังขารจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

[๔๔๘] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น

เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็มี

เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น

คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมี

ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

(ปัจจัยแห่งความดับ)

เพราะอวิชชาดับหมดมิได้เหลือ สังขารก็ดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้”

 

[๔๔๙] พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะชาติดับ ชรา มรณะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติดับนั่นแล ชรา มรณะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ ก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะภพดับ ชาติก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภพดับนั่นแล ชาติจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอุปาทานดับนั่นแล ภพจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะตัณหาดับนั่นแล อุปาทานจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะผัสสะดับนั่นแล เวทนาจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสฬายตนะดับนั่นแล ผัสสะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะนามรูปดับนั่นแล สฬายตนะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะวิญญาณดับนั่นแล นามรูปจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสังขารดับนั่นแล วิญญาณจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาดับนั่นแล สังขารจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอวิชชาดับ สังขารก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

[๔๕๐] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ

คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ว่าด้วยธรรมคุณ)

{ การพิจารณา เกี่ยวกับ สัตว์ เรา เทียบกับ อดีต อนาคต ปัจจุบัน }

[๔๕๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่า

ในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่าไม่ได้มีแล้ว

เราได้เป็นอะไรแล้ว

หรือว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร

หรือเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า

ในอนาคตกาล เราจักมี หรือว่าจักไม่มี

เราจักเป็นอะไร

หรือว่าเราจักเป็นอย่างไร

หรือเราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ปรารภถึงปัจจุบันกาล ในบัดนี้ ยังสงสัยขันธ์เป็นภายในว่า

เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี

เราย่อมเป็นอะไร

หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร

สัตว์นี้มาแล้วจากไหน

สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ไหน

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวอย่างนี้ ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” { คือไม่ใช่กล่าวเพียงเพราะความเคารพในพระศาสดา }

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวว่า พระสมณะตรัสอย่างนี้ พระสมณะทั้งหลายและพวกเรา ย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่น ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงเชื่อถือสมาทานวัตรความตื่นเพราะทิฏฐิ และทิฏฐาทิมงคล ของพวกสมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่พวกเธอรู้ เห็น ทราบเองแล้ว พวกเธอพึงกล่าวถึงสิ่งนั้น มิใช่หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” { คือรู้เห็นเอง จึงกล่าวอย่างนั้น }

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธออันเรานำเข้าไปแล้ว ด้วยธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน

คำที่เรากล่าวว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(เหตุแห่งการเกิดในครรภ์)

[๔๕๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่ทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด () มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย () มารดามีระดูด้วย () ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารก จึงมี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้อง เก้า () เดือนบ้าง สิบ (๑๐) เดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือนหรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตน ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก”

[๔๕๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิต ในอริยวินัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ ไถเล็ก ตีไม้หึ่ง หกขะเมน จังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

{ กำหนัดใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และอารมณ์ }

กุมารนั้น เห็นรูปด้วยจักษุ {ตา} แล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นได้ยินเสียงด้วยโสต {หู} แล้ว ย่อมกำหนัดในเสียงที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะ {จมูก} แล้ว ย่อมกำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก {หอม} ย่อมขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง {เหม็น} ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมกำหนัดในรสที่น่ารัก {อร่อย} ย่อมขัดเคืองในรสที่น่าชัง {ไม่อร่อย} ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะ {สัมผัสทางกาย} ด้วยกายแล้ว ย่อมกำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว {คือใจรับรู้อารมณ์นั้นๆแล้ว} ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ว่าด้วยพุทธคุณ)

[๔๕๔] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ตถาคตนั้น ทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลังในสกุลใดสกุลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต”

(ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ)

{ ศีลขันธ์ }

[๔๕๕] เมื่อเขาบวชแล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย

() ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

() ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่

() ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

() ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

() ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายข้างนี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลายข้างโน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

() ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง อันคนส่วนมากใคร่ พอใจ

() ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

() เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม

() ฉันหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล

(๑๐) เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล

(๑๑) เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับและตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

(๑๒) เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

(๑๓) เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

(๑๔) เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

(๑๕) เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

(๑๖) เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

(๑๗) เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

(๑๘) เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

(๑๙) เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

(๒๐) เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

(๒๑) เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

(๒๒) เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

(๒๓) เว้นขาดจากการซื้อและการขาย

(๒๔) เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

(๒๕) เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

(๒๖) เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก

(๒๗) ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปทางทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆก็มีแต่ปีกของของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ อินทรีย์สังวร }

“ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุนั้นได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาโสตินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในโสตินทรีย์

ภิกษุนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาฆานินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในฆานินทรีย์

ภิกษุนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษชิวหินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์

ภิกษุนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษกายิทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในกายิทรีย์

ภิกษุนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ภิกษุนั้นประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ สติสัมปชัญญะ }

“ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง”


(การชำระจิต)

{ นิวรณ์ ๕ }

[๔๕๖] ภิกษุนั้น ประกอบด้วย ศีลขันธ์ อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตในกาลภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

() เธอละความเพ่งเล็ง {ความเพ่งเล็งมักแปลว่า ความโลภ แต่อีกคำหนึ่งคือ กามฉันทะ คือความกำหนัดในสุขทางกาย เพราะ กามฉันทะ มักเป็นข้อที่ ๑ ใน นิวรณ์ ๕ เสมอ} ในโลกแล้ว มีใจปราศจากเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

() เธอละความประทุษร้าย คือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาทได้

() เธอละถีนมิทธะ {ความง่วงเหงาหาวนอน} ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

() เธอละอุทธัจจกุกกุจจะ {ความฟุ้งซ่าน} ได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

() ละวิจิกิจฉา {ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม} ได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิกิจฉาได้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ฌาน }

[๔๕๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว

() สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

() บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

() บรรลุตติยฌา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเรียกเธอได้ว่า เป็นผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่

() บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัส ในก่อนๆได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ความดับอกุศลธรรม)

{ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น }

[๔๕๘] ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในเสียงที่น่ารัก {เพราะ} ย่อมไม่ขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง {ไม่เพราะ} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก {หอม} ย่อมไม่ขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง {เหม็น} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรสที่น่ารัก {อร่อย} ย่อมไม่ขัดเคืองในรสที่น่าชัง {ไม่อร่อย} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก {สัมผัสทางกายอันเป็นสุข หรือที่ชอบ} ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง {สัมผัสทางกายที่ไม่ชอบ หรือเป็นทุกข์} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ {การรับรู้อารมณ์ของใจ หรือความนึกคิดต่างๆ} ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนั้น

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติโดยย่อของเรานี้ อนึ่ง พวกเธอจงทรงจำสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรว่า เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่ ดังนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

จบ มหาตัณหาสังขยสูตร ที่ ๘

[ไปบนสุด]