ภาวนาสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ภาวนาสูตร

[๖๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นก็จริง

แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

จะพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ

เพราะไม่ได้เจริญอะไร

เพราะไม่ได้เจริญ

สติปัฏฐาน ๔

สัมมัปปธาน ๔

อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕

พละ ๕

โพชฌงค์ ๗

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้น แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือ จะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ฟักตัว ออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ฟักตัว ออกมาโดยสวัสดีได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง

แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

ข้อนั้น เพราะเหตุไร

พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ

เพราะเจริญอะไร

เพราะเจริญ {๑} สติปัฏฐาน ๔  {๒} สัมมัปปธาน ๔  {๓} อิทธิบาท ๔  {๔} อินทรีย์ ๕  {๕} พละ ๕  {๖} โพชฌงค์ ๗  {๗} อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

 

เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้นจะไม่พึงปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ฟักตัว ออกมาโดยสวัสดี ก็จริง

แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้เท้าหรือจะงอยปาก เจาะกะเปาะไข่ฟักตัว ออกมาโดยสวัสดีได้

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้น

 

เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือ ที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้ หรือลูกมือนายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริงเมื่อด้ามมีดสึกไปเขาก็รู้ว่าสึกไป นั่นเทียว ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริงเมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไป นั่นเทียว

 

เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทร ที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะแล้ว แล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน ถึงฤดูหนาว เข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือตากลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไปโดยไม่ยาก ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล”

จบสูตรที่ ๗