อานาปานสติสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
. อานาปานสติสูตร (๑๑๘)

[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกันเช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ

ก็สมัยนั้นแลพระเถระทั้งหลายพากันโอวาทพร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือพระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้นอันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

[๒๘๓] ก็สมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำ ให้แจ้งโดยยิ่งกว่าประมาณเถิด

เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท

พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่าพระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะเพิ่มประมาณขึ้น คือภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

[๒๘๔] ก็สมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝนเป็นที่บานแห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก อย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควรที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชม นับเป็นโยชน์ๆ”

[๒๘๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่” {อนาคามี}

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระสกคาทามี เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระโสดาบันเพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

[๒๘๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

อานาปนสติ

[๒๘๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

 

[๒๘๘] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า”

เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า”

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว”

หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว”

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น”

หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

สติปัฏฐาน ๔

[๒๘๙]ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

(พิจารณาเห็นกายในกาย)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดเมื่อภิกษุหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว การใส่ใจลมหายใจออกลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่งในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแลในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นจิตในจิต)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลายใน สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแลในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นธรรมในธรรม)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจ ออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลายในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้วย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

โพชฌงค์ ๗

[๒๙๐] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

(กายในกาย)

ดูกร ภิกษุทั้งหลายสมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(เวทนาในเวทนา)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(จิตในจิต)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(ธรรมในธรรม)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

วิชชาและวิมุตติ

[๒๙๑] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘