อัคคิวัจฉโคตตสูตร — โลกเที่ยงหรือ? ชีพอันนั้นสรีระก็อันนั้นหรือ? ผู้หลุดพ้นแล้วจะเกิดที่ไหน?

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

อัคคิวัจฉโคตตสูตร

เรื่องปริพาชกวัจฉโคตร

[๒๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

(ทิฏฐิ ๑๐ อย่าง)

[๒๔๕] วัจฉโคตตปริพาชก นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

() “ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

() “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ ก็มี ไม่มีอยู่ ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

(๑๐) “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

 

[๒๔๖] วัจฉโคตตปริพาชก “พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ ก็มี ไม่มีอยู่ ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ ก็มิใช่ ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้”

[๒๔๗] พระผู้มีพระภาค “ดูกร วัจฉะ ความเห็นว่า

โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้นั้น

เป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็น{ที่เป็น}เครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปกับด้วยทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกร วัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้

วัจฉโคตตปริพาชก “ก็ความเห็นอะไรๆของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ”

พระผู้มีพระภาค “ดูกร วัจฉะ ก็คำว่า ความเห็น ดังนี้นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว

ดูกร วัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า ดังนี้ รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ ความดับแห่งรูป

ดังนี้ เวทนา ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา

ดังนี้ สัญญา ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา

ดังนี้ สังขาร ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร

ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ

เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเราว่าของเรา และความถือตัว อันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง”

 

(ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น)

[๒๔๘] วัจฉโคตตปริพาชก “ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน”

พระผู้มีพระภาค “ดูกร วัจฉะ คำว่า จะเกิด ดังนี้ ไม่ควรเลย”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ”

ดูกร วัจฉะ คำว่า ไม่เกิด ดังนี้ ก็ไม่ควร”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิด ก็มี ไม่เกิด ก็มี หรือ”

ดูกร วัจฉะ คำว่า เกิด ก็มี ไม่เกิด ก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิด ก็มิใช่ ไม่เกิด ก็มิใช่หรือ”

ดูกร วัจฉะ คำว่า เกิด ก็มิใช่ ไม่เกิด ก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร”

 

[๒๔๙] วัจฉโคตตปริพาชก “พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ คำว่า ไม่เกิด ดังนี้ ก็ไม่ควร

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิด ก็มี ไม่เกิด ก็มี หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ คำว่า เกิด ก็มี ไม่เกิด ก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร

พระองค์ อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิด ก็มิใช่ ไม่เกิด ก็มิใช่ หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกร วัจฉะ คำว่า เกิด ก็มิใช่ ไม่เกิด ก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร

ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว”

 

[๒๕๐] พระผู้มีพระภาค “ดูกร วัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้ เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก

ดูกร วัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือ ว่าไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา”

วัจฉโคตตปริพาชก “ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

ดูกร วัจฉะ ถ้าใครๆพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้ จึงลุกโพลงอยู่”

ดูกร วัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือ ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

ดูกร วัจฉะ ถ้าใครๆพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้ จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”

(การละขันธ์ ๕)

[๒๕๑] พระผู้มีพระภาค “ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด เวทนานั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าเวทนา มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะสัญญาใด สัญญานั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าสัญญา มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะสังขารเหล่าใด สังขารนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าสังขาร มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะวิญญาณใด วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้”

(ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์)

[๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ ของต้นสาละใหญ่นั้นจะหลุดร่วง กะเทาะไป เพราะเป็นของไมเที่ยง สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้นปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้แล้ว คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วนๆ ฉันใด พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกระพี้ คงเหลืออยู่แต่คำอันเป็นสาระล้วนๆ

ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าพระองค์นี้ถึงท่านพระโคดม พระธรรม และภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ดังนี้แล

จบ อัคคิวัจฉโคตตสูตร ที่ ๒


 

พระพุทธศาสนาสอนอะไร (๒)

พุทธศาสนาสอนอะไร

ตอน ๒

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ ๑ ขอแนะนำให้อ่านก่อนก็จะเป็นการดี

สารบัญ : อริยบุคคล / อรหันต์ / นิพพาน / ขันธ์ ๕ / อริยสัจ ๔ / อริยสัจ ๔ เบื้องต้น / ทุกข์ / สมุทัย / นิโรธ / มรรค / นิวรณ์ ๕ / อานาปนสติ / เดินจงกรม

. โลกทั้งมวลเป็นทุกข์ สัตว์โลกทั้งหลายล้วนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารมาแล้วตลอดกาลยาวนาน สุขทุกข์ใดๆในโลกล้วนมีไว้ก็เพื่อหลอกล่อสัตว์ทั้งหลายให้ยึดติดกับโลกอยู่ต่อไป ตลอดกาล เท่านั้น

. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์ที่มีบุญ บารมี มีสติ ระลึกได้ มีความเพียร อุตสาหะ รู้จักนำพาตนเองให้พ้นจากกองทุกข์อันใหญ่หลวงนี้ ก็พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่จะเกิดมีได้บ่อยๆ ต่อเมื่อกาลล่วงอันยาวนานนักหนาสักครั้งหนึ่ง ถึงจะมีเท่านั้น

. พระพุทธองค์สอนให้รู้จัก () ทุกข์ () เหตุแห่งทุกข์ () รู้เหตุดับแห่งทุกข์ และสุดท้าย () รู้วิธีพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกว่า อริยสัจ ๔

. เมื่อสัตว์โลกผู้มีปัญญา ประพฤติธรรมตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว ได้บรรลุธรรมขั้นอริยบุคคล ตั้งแต่ ๑(๑. โสดาบัน ๒. สกทาคามี ๓. อนาคามี ๔. อรหันต์) ความเห็นแจ้ง ความสุข ก็บังเกิดขึ้นกับสาวกทั้งหลาย

ผู้ที่บรรลุถึงขั้นอรหันต์ เรียกว่า บรรลุธรรม เรียนจบ จบปริญญาในพระศาสนา เป็นผู้หลุดพ้น ถึงฝั่ง คือนิพพาน

นิพพาน เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ที่พ้นไปจากโลก สงบ เย็น เกษม เป็นอมตะ พระอรหันต์เมื่อยังไม่สิ้นอายุขัยก็อยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขยิ่ง ถึงแม้ร่างกายยังมีอยู่ในโลก ยังได้รับการกระทบกระทั่งต่างๆ ทางกาย ทางหู เกิดความรู้สึกร้อน หนาว เจ็บ ไม่เจ็บ เหมือนคนทั่วไป แต่จิตใจท่านพ้นไปแล้ว ทำให้ไม่ยี่หระ หรือไม่สะทกสะท้าน ไม่คร่ำครวญ ไม่กระวนกระวาย ในเรื่องต่างๆ อาการต่างๆ หรือสภาพต่างๆของโลกอีกต่อไป

ท่านเพียงรู้ เพียงเห็น ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ เป็นไปตามกรรม ที่เสกสรรปั้นแต่ง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย มีเกิด มีดับ ธรรมทั้งหลายเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ดับไปตามเหตุ ตามปัจจัย ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ล้วนเป็นธรรมดาของโลก

โลกทั้งหมดทั้งมวลนี้กลับกลายเป็นดั่งธุลี หรือเป็นดังอากาศ อันว่างเปล่า สำหรับพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ไม่ควรค่าอะไรแก่การนับ การยึดถือ ไม่สลักสำคัญอะไรๆเลย

ท่านเหล่านั้นก็เพียงอยู่ในโลกนี้ไปตามกรรม และเพื่อเอื้อเฟื้อต่อสัตว์โลกทั้งหลายเท่านั้น เปรียบเสมือนดอกบัว หรือใบบัว ที่อยู่กับน้ำตลอดเวลา แต่น้ำหาได้ถูกต้องดอกบัวหรือใบบัวนั้นไม่

เมื่ออายุขัยแห่งพระอรหันต์หมดไป สิ่งทั้งปวงอันเป็นของโลก ที่ชาวโลกนับเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นชีวิตนั้น ก็ดับไป ทั้งหมดทั้งสิ้น

พระศาสนาบัญญัติว่า โลกนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ชีวิตนี้ (หรืออีกนัยหนึ่ง สังขารทั้งหลาย) ประกอบด้วย ขันธ์ทั้ง ๕ คือ () รูป () เวทนา () สัญญา () สังขาร และ () วิญญาณ หมายความว่าที่ชาวโลกเรียกว่าคนๆ มนุษย์ๆ หรือสัตว์ทั้งหลายนั้น ความจริงแล้ว เป็นธาตุอยู่ ๕ อย่าง (๕ ขันธ์) ตามที่ว่ามานั้น

เมื่อสิ้นอายุไขย ธาตุทั้ง ๕ ขันธ์นั้นก็ดับไปหมดสิ้นสำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับคนทั่วไปนั้น เมื่อตายลง ที่เห็นว่าตายนั้น ความจริงเป็นเพียงรูปธาตุเท่านั้นที่ตายลง รูปธาตุคือทั้งหมดที่ประกอบเป็น เนื้อ หนัง มังสา ตับ ไต ไส้ พุง อะไรต่อมิอะไรต่างๆเหล่านั้น แต่ขันธ์ที่ยังเหลือยังต้องไปสู่กายใหม่ รูปใหม่ ในภพหน้าของตัว คือ อาจไปเกิดในนรก ในสัตว์เดรัจฉาน ในเปรต หรือในมนุษย์อีก หรือในเทวดา ก็แล้วแต่กรรมของตน

แต่ของพระอรหันต์ การตายของท่านเรียกว่า นิพพาน หรือปรินิพพาน คือตายจากโลกนี้ ดับจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง ไม่เกิดในโลกอีก ไม่ว่าภพไหนๆ หากแต่ท่านดับจากโลกนี้ไปสู่นิพพาน แดนเกษมนั้น กลับสู่สภาพดั้งเดิม เดิมแท้ เป็นอมตะนิรันดร์ ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายในโลกนี้ ในวัฏสงสารนี้อีกตลอดไป

นี้เรียกว่าการบรรลุ การหลุดพ้น การเข้าสู่ความเป็นอมตะ ความเป็นเลิศ สุดยอดแห่งธรรมชาติทั้งมวล

!!! การอธิบายนี้เป็นเพียง เบื้องต้น เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้เท่านั้น หากแต่ถ้าอธิบายตามหลักธรรมชั้นลึกแล้ว ผู้ที่เป็นอริยบุคคลจะไม่เรียกกายนี้ ชีวิตนี้ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เลย ท่านจะเห็น หรือเข้าใจว่า เป็นธาตุ ธาตุต่างๆ เป็นขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

. ก็พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วนั้นเป็นไฉน – คืออริยสัจ ๔ นั่นเอง

คือทุกขอริยสัจ คือโลกทั้งมวลเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหา เพราะมีตัณหา สัตว์โลกจึงต้องทนทุกข์ เวียนเกิด เวียนตาย มาแล้วตลอดกาลนาน และจะเวียนเกิดเวียนตายต่อไปอีกตลอดกาลนาน

ทุกขนิโรธอริยสัจ เหตุดับแห่งทุกข์

เหตุดับแห่งทุกข์คือตัณหาดับ เมื่อสัตว์โลกทั้งหลายไม่มีตัณหาในจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นอยู่นี้ก็ดับไป ไม่มีอะไรเลย แต่เพราะสัตว์โลกทั้งหลายยังมีตัณหาอยู่อย่างเหนียวแน่น โลกอันเต็มไปด้วยความทุกข์อันน่าเวทนาเหล่านี้ ยังอยู่ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือวิธีดับทุกข์ มี ๘ องค์ คือ

() สัมมาทิฐิ (มีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง)

() สัมมาสังกัปปะ (คิดดี)

() สัมมาวาจา (พูดดี)

() สัมมากัมมันตะ (ทำดี)

() สัมมาอาชีวะ (อยู่ดี หรือหากินเลี้ยงชีพถูกต้อง)

() สัมมาวายามะ (พยายามถูกต้อง)

() สัมมาสติ (มีสติถูกต้อง)

() สัมมาสมาธิ (สมาธิถูกต้อง หรือการฝึกจิตถูกต้อง)

การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติมรรค ทั้ง ๘ องค์ ในชีวิต น้อมนำเข้ามาในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นชีวิตที่ดำเนินอยู่นั้นก็มีการกำกับด้วยมรรคอันมีองค์ ๘ อันประเสริฐนั้น

ความสุขก็บังเกิด ผลก็บังเกิด ความเจริญในโลกก็บังเกิด สภาพจิตใจของคนผู้นั้นก็ดีขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ความเบื่อหน่ายในตัณหาก็มากขึ้น จนในที่สุด ตัณหานั้น ก็ดับไปหมดสิ้น

เมื่อตัณหาถูกทำลายสิ้นแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้บรรลุอรหันต์ ได้สัมผัสถึงนิพพานอันเป็นสุดยอดของธรรมชาติทั้งมวล ด้วยประการฉะนี้

อริยสัจ ๔ เบื้องต้น

ทุกข์ – โลกทั้งมวลเป็นทุกข์

เหตุใดโลกทั้งมวลจึงเป็นทุกข์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีความเป็นอมตะ ไม่เที่ยงแท้ ล้วนแต่แปรปรวนไปตลอดเวลา กล่าวคือสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย ความเป็นไปตลอดอายุของสัตว์นั้น ล้วนแต่มีทุกข์โดยมาก เช่นต้องหิว ต้องหนาว ต้องร้อน ต้องแก่งแย่ง ต้องทะเลาะ ต้องไม่พอใจ ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ ไม่จากตัวเอง ก็จากผู้อื่น หรือจากสิ่งต่างๆ

อันว่าสัตว์*ทั้งหลายนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่มนุษย์มองเห็นอยู่เท่านี้ไม่ ยังมีภพภูมิอื่นๆ ที่มนุษย์ทั่วไปไม่เห็น เช่น นรก เปรต เทวดา และอื่นๆอีก – สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่ประสบเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ ความโศก ด้วยกันทั้งสิ้น (* คำว่าสัตว์ในที่นี้ ใช้ความหมายที่คนเข้าใจได้ทั่วไปก่อน)

มนุษย์ก็ทุกข์อย่างมนุษย์ เทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา สัตว์เดรัจฉานก็ทุกข์อย่างเดรัจฉาน เปรตได้รับทุกข์เป็นส่วนมาก จะได้รับความสุขบ้างก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น มนุษย์ได้รับสุขทุกข์คละเคล้ากันไป ไม่ว่ารวยว่าจน ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งฐานะใด แม้ว่าเป็นราชามหากษัตริย์ก็ยังมีทุกข์มีร้อน ลองพิจารณาให้ดีๆ ใคร่ครวญไปตามนี้ ผู้ที่ไม่เห็นทุกข์แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงผู้หลง และเป็นผู้หนี คือวิ่งหนี ไม่อยากเจอ แต่ก็หนีไม่พ้น ต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ส่วนสัตว์นรกนั้นเป็นสัตว์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความแผดเผา ด้วยความทุกข์ทรมานอันยิ่ง ไม่มีความสุขจะได้รับเลยแม้เพียงเสี้ยววินาที

พระศาสดากล่าวไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม” กรรมย่อมส่งสัตว์ไป ใครจะไปเกิดยังที่ใดๆ ภพไหน ภูมิไหน ได้รับสุข ทุกข์ อย่างไรๆ ก็เพราะผลแห่งกรรมที่ตนทำนั้นแล

สัตว์ทุกตัวในโลกนี้เมื่อตายไป ที่ๆจะไปส่วนใหญ่นั้นคือ นรก เดรัจฉาน และเปรตวิสัย เกือบทั้งหมดเลยทีเดียว จะได้กลับมาเป็นมนุษย์ เทวดาอีกนั้น ก็น้อยแสนน้อย พระพุทธองค์ทรงเทียบกับฝุ่นที่พระองค์ทรงช้อนขึ้นที่ปลายเล็บนั้นว่า ประมาณเท่ากันกับจำนวนสัตว์ที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีก ส่วนที่เหลือนั้นเล่า พระองค์ทรงเทียบกับแผ่นดินของทั้งมหาปฐพีนี้ คือที่มนุษย์เรียกว่าโลก ที่เหยียบอยู่นี้ (คำว่าโลก ในทางพุทธกับที่มนุษย์เดี๋ยวนี้เรียกกัน มีความหมายต่างกันมากทีเดียว)

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ผู้ที่ฉลาดควรเริ่มตระหนักถึงทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ ศึกษาเรื่องทุกข์ หันหน้าเผชิญกับมัน แล้วต่อสู้กับมัน ตามที่พระศาสดาได้ทรงพระเมตตาสั่งสอนพวกเราไว้เถิด

ทำได้ดังนี้ก็จะเป็นกุศล เป็นการเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เข้าสู่ทางธรรม เข้าสู่ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ (มีความเชื่อความเข้าใจถูกต้อง)

ข้อนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

สมุทัย – เหตุเกิดแห่งทุกข์คือตัณหา

ตัณหา ถ้าจะแปลให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น ให้ง่าย ก็คือ ความติดใจ หรือความมัวเมา หรือความชอบใจ ติดใจ ในสิ่งต่างๆ (คำแปลในที่นี้ ไม่ได้ยึดตามตำรับตำราที่ได้มีการสอนมีการแปลกันก่อนๆมา แต่แปลมาจากความหมายในพระไตรปิฎก ให้ออกมาเป็นคำที่สมัยนี้จะเข้าใจได้ถูก หรือใกล้เคียงมากที่สุด ฉะนั้นบางทีท่านผู้รู้มาอ่านเนื้อหานี้ก็อาจจะไม่ชอบใจ อาจเห็นว่าแปลไม่ถูกตามที่เคยเห็นมา แต่ข้าพเจ้ามุ่งหวังความเข้าใจของคนสมัยนี้เป็นหลัก และคำนึงถึงความถูกต้อง ตามพระธรรมที่ได้ทรงสั่งสอนเท่านั้น เป็นหลัก – หากมีข้อแนะนำอย่างไรอันจะปรับปรุงเนื้อหานี้ให้ดีขึ้นก็ยินดี ส่งมาได้ที่ team@lokutara.org)

โดยย่อ และเป็นเบื้องต้น เมื่อสัตว์ติดใจ ชอบใจ หรือมัวเมา ในสิ่งใดแล้ว ก็อยากที่จะได้ยินได้ฟัง ได้เห็น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส แม้แต่ได้คิดถึง สิ่งเหล่านั้น อยู่ร่ำไป หรือตลอดไป

เมื่อสัตว์ทั้งหลาย (สัตว์หมายถึงที่คนสมัยนี้เรียกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมด รวมทั้ง คน เทวดา เปรต เดรัจฉาน และสัตว์นรกด้วย เป็นต้น) ติดใจอยู่ หลงไหลอยู่ มัวเมาอยู่ นั่นก็เท่ากับสัตว์นั้นได้ถูกล่ามโซ่ เป็นโซ่ตรวน ไว้ที่แขน ที่ขา หรือที่คอ คือล่ามติดกับภพ ผูกติดกับภพ จะติดอยู่ในภพตลอดไป ติดอยู่ในโลกตลอดไป

ท่านจึงว่า “ตัณหาเป็นเครื่องผูก ทำสัตว์ให้เกิดอีก” เพราะฉะนั้นสัตว์ใด ยังมีตัณหา สัตว์นั้นย่อมต้องเกิดอีกร่ำไป ไม่มีวันจบสิ้น ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้น ก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรมของตน (เบื้องต้น บุญ คือกรรมดี บาปคือกรรมชั่ว)

ผู้ที่กล่าวว่า “ไม่อยากตาย” หรือ “อยากกลับมาเกิดอีก” ก็นับว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้จักทุกข์ เป็นผู้ยังไม่รู้จักตัณหา โดยแท้จริง ยังมีตัณหา เครื่องมัวเมาอยู่นั่นเอง เปรียบเสมือน วัวควาย ที่ถูกเจ้าของล่ามอยู่ ไม่สามารถจะไปไหนตามใจชอบได้ นั่นเอง

ข้อนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

นิโรธ – ความดับแห่งทุกข์

ความดับแห่งตัณหา เรียกว่า นิโรธ

คำเต็มเรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

คือเมื่อสัตว์ใดไม่มีตัณหาในทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว หรือเรียกว่าสิ้นตัณหาแล้ว จิตท่านก็ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งต่างๆในโลกอีกต่อไป เมื่อจิตไม่ผูกพันกับโลกแล้ว ก็ย่อมดับ คำว่าดับในที่นี้คือ ภพชาติ ที่จะเกิดต่อไป ไม่มีอีกแล้ว ดับไป ดังท่านว่า “เปรียบเสมือนตาลยอดด้วน” หรือ “ต้นไม้ที่ถูกถอนรากขาดแล้ว”

เมื่อตัณหาดับไปทั้งหมด ผู้นั้นจะมีความรู้เกิดขึ้นว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพดับแล้ว ชาติใหม่ ไม่มีอีก ได้เป็นพระอรหันต์ ได้เห็นนิพพาน จิตพ้นแล้วจากความสกปรก (อาสวะ) ทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีแต่ความสุข เบิกบาน ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไปตามอายุขัย เมื่อตายแล้วทุกอย่างก็ดับสิ้น กายก็ตาย วิญญาณหรือจิต ก็ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างดับหมด มีแต่วิมุติญาณทัสสนะ ในนิพพานเท่านั้น

สรุปแล้ว ความเป็นเรา แท้จริงไม่ใช่ร่างกายที่เห็นนี้ ไม่ใช่วิญญาณที่ครองร่างนี้อยู่ ไม่ใช่อะไรก็ตามที่มี ที่เป็นอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่สัตว์ยังไม่หลุดพ้นไป หรือยังไม่พบเจอนิพพาน สัตว์ก็เป็นสัตว์ แต่เมื่อใดที่พ้นทุกข์แล้ว หลุดพ้นแล้ว พบเห็นนิพพานแล้ว ปรินิพพานแล้ว สัตว์นั้นได้กลายเป็นวิมุตติญาณทัสสนะ อยู่ในนิพพานนั่นเอง

นิพพาน ไม่ใช่โลก แต่เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง เป็นอมตะ เป็นที่เกษม และในนั้นไม่มีอะไรๆเหมือนในโลกนี้ ทุกอย่างที่เราเห็นและไม่เห็นในโลกนี้ ไม่มีในนิพพาน

ดังนั้น นิพพานเป็นของเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ และเป็นเราโดยแท้จริง (หมายถึงหากเราไปถึง คือหลุดพ้นแล้ว)

ในนิพพานไม่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีหิว กระหาย ไม่มีหนาว ไม่มีร้อน ไม่มีทุกข์ใดๆ โดยสิ้นเชิง ท่านจึงว่า เป็นแดนเกษม

ไม่ได้หมายความว่ามีสัตว์ มีรูปร่าง เช่นคน เทวดา หรือเดรัจฉาน หรืออื่นๆ อยู่ในนิพพาน – ก็ท่านว่า อะไรๆที่มีในโลก ที่เป็นโลก ไม่มีในนิพพาน

ผู้ที่จะสัมผัสนิพพาน หรือรู้เห็นนิพพานได้นั้น ต้องฝึกปฏิบัติ ให้บรรลุ ให้รู้ ให้เห็นเอง ดังท่านว่า “ธรรม อันบุคคลพึงเห็นเอง”

ถามว่า นิพพาน อยู่ที่ไหน – ท่านว่า “นิพพานอันมีในที่ใกล้” หมายความว่า นิพพานก็อยู่ใกล้ๆเรานี่แหละ มีปัญญา (หรือมีวิชา) เมื่อไหร่ก็เห็นได้ เข้าได้ทุกเมื่อ หรือเมื่อปรินิพพาน (คือการตายของผู้ที่หมดกิเลส) เมื่อไหร่ ก็ไปได้ทันที

ความดับพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ก็มีด้วยประการฉะนี้”

มรรค – วิธีดับทุกข์

คำเต็มคือ อริยมรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือวิธีดับทุกข์

มี ๘ ด้าน หรือ ๘ องค์ ท่านจึงเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘

. สัมมาทิฐิ – คือความเชื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อธิบายอย่างง่ายก่อน คือผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อตามพระพุทธศาสนา เข้าใจตามอริยสัจ ๔ ตระหนักถึงทุกข์ รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ รู้เหตุดับแห่งทุกข์ แล้วนั้น ผู้นั้นเริ่มมีสัมมาทิฐิ

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ศึกษา รู้ตามหลักอันแท้จริงของพระพุทธศาสนา รู้จักกรรม รู้จักนรก สวรรค์ รู้จักกุศล อกุศล และมีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ขัดแย้ง นั่นแหละมีสัมมาทิฐิ คือมีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง

เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงห์ มีความศรัทธา น้อมนำพระธรรมเข้ามาประพฤติในตนเอง อย่างนี้เป็นสัมมาทิฐิ

รู้ว่าทำชั่วได้บาป ทำดีได้บุญ รู้ว่าเราทำอะไรๆ ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น ทำความดีย่อมได้บุญ ทำความชั่วย่อมได้บาป กรรมดีคือกุศล กรรมชั่วคืออกุศล

อันว่ากรรมนั้น มี ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม คือกรรมทางกาย กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ

คนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยนี้ คิดว่าการโกหกเป็นสิ่งปกติ ทำได้ ไม่เสียหาย คิดว่าไม่มีใครรู้ เขาจึงโกหกโดยทั่วไป ไม่ยึดถือคำพูดตน ไม่รักษาคำพูดตน – ก็การโกหก พูดเท็จ เป็นวจีกรรมอันชั่ว เป็นอกุศลธรรม ผู้ที่โกหก ย่อมได้รับผลกรรมอันเกิดจากการพูดโกหกนั้น

คนเราสมัยนี้คิดว่าเราจะคิดอะไรๆ ย่อมไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นเราคิดได้หมด คิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ ไม่มีผลอะไร สิ่งนี้เป็นมิจฉาทิฐิ (เข้าใจผิด) แท้ที่จริง มโนกรรมนี้เป็นบาป อกุศล

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็ธรรมชาติอันเรียกว่าจิตนี้ เป็นธรรมชาติอันละเอียด เป็นธาตุละเอียด และยิ่งกว่านั้น สภาพอันละเอียดของโลกนั้น ย่อมกระทบกระทั่งกันหมด รู้กันได้ทั่วไปหมด เพราะว่าธาตุอันละเอียดทั้งหมดนั้นย่อมเชื่อมกันไปทั้งหมด เปรียบเสมือนบุคคลหยดยาพิษลงไปในแม่น้ำ อีกไม่นาน ปลาเอย สัตว์น้ำเอย ตลอดจนต้นไม้ ใบไม้ ที่อยู่รอบๆบริเวณนั้น ย่อมได้รับอันตราย นี่แสดงให้เห็นว่า ที่เห็นว่าน้ำมันใสๆ เหมือนไม่มีอะไรต่อ หรือเชื่อมกัน ระหว่างปลาตัวหนึ่งกับปลาอีกตัวหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้วมันไปถึงกันได้

เปรียบเสมือนบุคคล ๒ คน คนหนึ่งส่งกลิ่นเหม็นออกมา กลิ่นเหม็นนั้นก็ไปถึงอีกคนในเวลาไม่นานเลย ทั้งๆที่เมื่อมองดูอยู่ก็ไม่มีอะไรมาเชื่อมต่อระหว่างคน ๒ คนนั้น แต่ก็มีลมพาเอากลิ่นเหม็นของตัวนั้นไปให้ผู้อื่นได้

ธรรมชาติของโลก หรือของสิ่งทั้งมวลก็เช่นเดียวกัน มีธาตุอันละเอียด ที่เชื่อมกันไปหมด การทำกรรมดี กรรมชั่วของท่าน ไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ จะไม่มีทางหลุดพ้นไปได้ – ขอให้รู้ไว้อย่างนี้

ผู้มีความรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ และเชื่ออย่างนี้ เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ

ผู้มีสัมมาทิฐิอย่างนี้ เป็นผู้มีโอกาสจะตรัสรู้ธรรมได้ เป็นผู้เปิดประตูเข้าสู่ธรรมะ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ และเป็นผู้มีโอกาสที่จะหลุดพ้นต่อไป

. สัมมาสังกัปปะ – คือความคิดดี อันว่าคนเรา หรือเทวดา หรือสัตว์ ที่มีปัญญา ย่อมนึกคิด แต่คนทั้งหลายมักคิดไปในทางกาม คือคิดไปในทางที่จะหาความสุขใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตา (ความสุขทางตา) ทางหู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ และยิ่งเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสจะคิดในทางบาปอกุศล เป็นอันมาก

ความคิดในทางไม่ดี หรือมิจฉาสังกัปปะคือคิดไปในทางหาความสุข (ทางโลก) ตามที่กล่าวมาแล้วนี้เรียกว่า คิดไปในทางกาม

อีกอย่างหนึ่ง มักคิดไปในทางพยาบาท คือความไม่ชอบ ความเกลียด ความชัง ความอาฆาต ความแค้น ความโกรธ เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าคิดผิด เป็นบาป

อีกอย่างหนึ่ง คือคิดไปในทางเบียดเบียน คือคิดจะทำร้ายผู้อื่น หรือใครๆ หรือสัตว์ เมื่อคนคิดจะทำร้ายอีกคน ผลก็คือเขาทำร้ายอีกคน – เพราะความคิดย่อมมาก่อนการกระทำนั้น – นี่ก็เป็นความคิดไม่ดี

คิดดีคือไม่คิดไปในทางกาม พยาบาท เบียดเบียน ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่คิดตรงกันข้าม คือแทนที่จะคิดหาความสุขทางกาม ก็คิดที่จะออกจากกาม เช่นหาความสงัด ใคร่ครวญธรรม วิจัยธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม อย่างนี้ หรือเห็นโทษของกาม เห็นโทษของพยาบาท เห็นโทษของการเบียดเบียน หรือใคร่ครวญธรรม พิจารณาสิ่งต่างๆรอบตัวแล้วเห็นสัจธรรม นี่เรียกว่าใคร่ครวญธรรม เหล่านี้เป็นสัมมาสังกัปปะ

แทนที่จะคิดพยาบาทผู้อื่น ก็คิดช่วยเหลือเขา ช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย ให้พ้นทุกข์ ให้บรรเทาจากทุกข์ เป็นต้น

การพิจารณาธรรมเพื่อเข้าใจในสิ่งทั้งหลาย เพื่อเข้าใจในอริยสัจ เหล่านี้ จัดเป็นการคิดดีทั้งสิ้น

. สัมมาวาจา – พูดดี ท่านว่า ดังนี้

คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด คือยุให้แตกสามัคคี ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหลไร้สาระ ไม่มีประโยชน์

. สัมมากัมมันตะ – คือทำดี อันนี้คือการกระทำทางกาย หรือกายกรรมนั่นเอง

เช่นไม่ฆ่า ทำร้าย ไม่ลักขโมย ไม่ล่วงเกินหญิงที่มีผู้ปกครอง ไม่เป็นชู้กับชายอื่นที่ไม่ใช่สามี ไม่ดื่มสุรา เป็นต้น

. สัมมาอาชีวะ – คือการเลี้ยงชีพถูกต้อง หมายความว่าการที่ชีวิตนี้จะเป็นไป คือสืบทอดต่อไป ก็ต้องหาอาหารมาให้มัน การหาอาหารมาสืบทอดชีวิตนี้นั้น ต้องถูกต้อง ไม่ใช่โดยการขโมย โดยการโกง โดยการไปบังคับขู่เข็นเขามา โดยการประกอบอาชีพทุจริตทั้งหลาย

อาชีพทุจริตที่เป็นบาป เช่น ฆ่าสัตว์ ค้าอาวุธ ค้าของมึนเมา เสพติด อาชีพหลอกลวง ถ้าเป็นภิกษุ สามเณร หรือผู้บวชในศาสนานี้ ต้องเลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตเท่านั้น ไม่สะสมเงินทอง เพื่อไปซื้อสิ่งใด

การเลี้ยงชีวิต รวมถึงการดูแลชีวิตนี้ตามจำเป็น ตามฐานะ เช่นการนุ่งห่มร่างกาย การรักษาโรค การรักษาทรัพย์ การทำหน้าที่ต่างๆอย่างมีศีลมีธรรมกำกับไว้อย่างดี ถ้าเป็นฝ่ายสงฆ์ ก็ทำกิจที่สงฆ์ควรกระทำ ตามพระธรรมวินัย

. สัมมาวายามะ – มีความเพียรถูกต้อง

ความเพียรคือความขยัน ต้องมีความขยันถูกต้อง ทำไมความขยันต้องถูกต้อง ก็เพราะคนเราที่มีความขยันอยู่ ก็ไม่น้อย แต่ไปขยันผิดที่ เช่นขยันทำงาน ขยันทำร้ายผู้อื่น ขยันพูดไม่ดี ขยันคิดไม่ดี แต่ขยันถูกต้องในที่นี้คือ ให้มาขยันประพฤติปฏิบัติธรรม อันว่าพระธรรมและการบรรลุธรรมเป็นสิ่งยาก ไม่ใช่จะบรรลุได้ง่ายๆ หากผู้คนเอาแต่ขยันทำสิ่งอื่นๆแล้วไซร้ จะบรรลุธรรมได้อย่างไร สัมมาวายามะก็คือ ขยันประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม นั่นเอง

ดังท่านว่า “ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม” นั่นคือประพฤติสม่ำเสมอ ไม่ขาดช่วง หรือจะเรียกให้ถูก ควรเรียกว่าใช้ชีวิตตามธรรม ก็ว่าได้ นั่นคือธรรมะ อยู่ในชีวิตนี้ ไม่ต้องมาบอกว่าเวลานั้น เวลานี้ ก็ทั้งชีวิตนี้นั่นแหละ คือการประพฤติธรรม

อีกอย่างหนึ่ง การถือศีล ทั้งศีล ๕ อุโบสถศีล (ศีล ๘) ก็เป็นการประพฤติธรรม เป็นสัมมาวายามะด้วยกัน เช่นกัน

. สัมมาสติ – มีสติ ระลึกถึงพระธรรมวินัย ระลึกรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเช่นไร ครั้งรู้แล้วก็ควบคุมให้เป็นไปในทางกุศล ทางดี ทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าทำอะไรก็เป็นไปตามพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีศีลธรรมทั้งสิ้น

อีกประการหนึ่ง เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ คำว่าสัมปชัญญะ คือการรู้ตัว รู้อากัปกริยาของตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน การก้าวไป การหันหน้า การแลตา หรืออื่นๆ เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง การเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยการพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม อยู่บ่อยๆ เรื่องสติปัฏฐานนี้น่าจะได้สาธยายเป็นการเฉพาะต่อไป

อันว่าสตินั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะทำอะไรท่านให้มีสติกำกับไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนั้น เหตุที่ต้องมีสตินั้นเพราะเหตุว่า เราทั้งหลายนั้น (หากยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์) ล้วนเป็นผู้หลง เป็นผู้มัวเมา เป็นผู้ยังมีกิเลสอยู่ทั้งสิ้น สติจึงจำเป็น เพื่อให้ระลึกได ระลึกถึงอะไร ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ ถึงพระศาสนา ระลึกถึงกุศลธรรมต่างๆได้ ไม่เผลอไผล ไปทำอกุศล และให้หลุดออกจากความเพลิดเพลิน หลุดออกจากความมัวเมา – ผู้ที่มีสติดีก็เท่ากับมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งธรรมอย่างสม่ำเสมอ หรือตลอดเวลา

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายย่อมเป็นผู้ที่สติไม่ขาดตอน ไม่ขาดช่วง เป็นสติบริสุทธิ์นั่นเอง อีกประการหนึ่ง ท่านว่า “สติยึดเหนี่ยวด้วยวิมุติ วิมุติมีนิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยว” นั่นแสดงว่าหากผู้ใดระลึกได้อยู่ตลอดเวลา คือมีสติอยู่ได้ตลอดเวลา ย่อมเป็นผู้อยู่ใกล้วิมุติ และนิพพาน อยู่เสมอ นั่นเอง

. สัมมาสมาธิ – เป็นผู้มีสมาธิดี มีจิตตั้งมั่น

สมาธิดีคือเป็นผู้ไม่ว่อกแว่ก มีจิตใจที่แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน จนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

คำว่า ดี ในที่นี้คือ สมาธิที่เจริญดี ในทางธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นฌาน

ไม่ใช่สมาธิแบบที่ชาวโลกมีได้โดยทั่วๆไป

เป็นผู้จางคลายใน นิวรณ์ ๕ ประการ นั่นคือ () กาม () โกรธ / พยาบาท () ความง่วงเหงาหาวนอน () ความฟุ้งซ่าน และ () ความสงสัย หรือความไม่เชื่อ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ผู้ที่มีนิวรณ์ ๕ จางคลายแล้วนี้ จะเป็นผู้ที่มีความสุขมากขึ้น มีจิตปลอดโปร่ง โล่งสบาย ไม่อมทุกข์ เนื่องจากจิตได้คลายจากฝุ่นผงชั้นต้น คือตัวที่ทำให้จิตหม่นหมอง ไปตามส่วนแล้ว นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง เป็นผู้อยู่สงัด แสวงหาความเงียบ สงบ สงัด คือปราศจากคน ปราศจากเสียงอึกทึก ห่างจากความวุ่นวาย แล้วเจริญสมาธิตั้งแต่ ปฐมฌาน จนถึง ฌาน ๔ ตามลำดับ – เรื่องของฌานทั้ง ๔ นี้คงจะต้องเป็นการอธิบายโดยเฉพาะโดยละเอียดต่อไป

การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ คือการตั้งจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้า และออก สังเกตุว่าลมหายใจนั้นยาว หรือสั้น ก็รู้ถึงความยาว ความสั้น ความเข้า ความออก ของลมหายใจของตนนั้น อย่างนี้ก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง

การเดินจงกรมโดยยืนอย่างสำรวม ในที่สงัด เดินไป เดินกลับ หรือเดินเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ช้าๆ ตั้งจิตไว้ที่อากัปกริยาแห่งการเดินนั้น (คนละอย่างกับ ยกๆย่างๆ ช้าๆ ที่เห็นเขาทำกันสมัยนี้)

การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติก็ดี การเดินจงกรมก็ดี เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรวมถึงพระพุทธเจ้าท่านทำโดยตลอด ทำสม่ำเสมอ และกระทำสืบเนื่องกันมา น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอริยวินัยได้อยู่ทีเดียว

เมื่อจิตของผู้นั้นเข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ฌานแล้ว ก็เรียกได้ว่าอยู่ใกล้นิพพาน มีโอกาสบรรลุธรรมได้ทุกขณะ ดังท่านว่า “ผู้มีสมาธิ ย่อมเกิดปัญญา” เมื่อปัญญาเกิด วิชา วิมุติ ก็เกิด การเห็นนิพพานอย่างแจ่มแจ้งย่อมมีได้

เหล่านี้คืออริยมรรค อันมี ๘ องค์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้ที่ประพฤติ ปฏิบัติ ตาม ๘ องค์นี้ไปเรื่อยๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน น้อมนำเข้ามาในชีวิตจิตใจ ความเจริญทางโลก หมายถึงการใช้ชีวิตอยู่ในโลก ก็มีแต่เรื่องดีๆ ความเจริญในด้านต่างๆก็มี ความเจริญในทางธรรม ก็มี มีควบคู่กันไป จนในที่สุดผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไปเรื่อยๆ ตัณหาอันฝังแน่นมานานนักหนาเหล่านั้น จะจางคลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุด หมดสิ้น เป็นผู้สิ้นตัณหา มีจิตหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ในโลกต่อไป

ขอจบการอธิบายอริยสัจไว้เพียงเท่านี้

ความละเอียดนี้เป็นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ชาวพุทธทั้งหลายควรที่จะได้ศึกษาปฏิบัติให้ถ่องแท้ เพื่อให้ได้เห็นสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น ให้บรรลุสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุต่อไป

ขอความเจริญจงมีโดยทั่วกันเทอญ

Tag: #พุทธศาสนา #ศาสนาพุทธ #อริยสัจ๔ #มรรค #ทุกข์ #สมุทัย #นิโรธ #มรรค #นิวรณ์๕ #อานาปนสติ #เดินจงกรม #สมาธิ

ราชสูตร ที่ ๒

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒)
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
ราชสูตรที่ ๒

{ ข้อคิดเห็น คำว่า “ท้าวสักกะจอมเทพ ขับผิด ไม่ถูก” ในกรณีนี้น่าจะหมายถึงว่า คำกล่าวนี้ ควรเป็นคำของพระอรหันตขีณาสพ ไม่ใช่ของผู้ที่ยังไม่ได้อรหัตผล ไม่ได้ทรงหมายถึงว่า เนื้อหาของคำสอนไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ทรงตำหนิผู้พูดแต่อย่างใด  อนึ่ง พระสูตรนี้มีนัยอีกประการว่าผู้ที่ประพฤติอุโบสถศีลอันมีองค์ ๘ ประการนี้ เป็นทางไปสู่อรหัตผลต่อไปในภายหน้าด้วย – หากผิดพลาดประการใดก็ขออโหสิกรรมด้วยเทอญ หรือแนะนำข้อคิดเห็นอื่นๆได้ที่ team@lokutara.org }

[๔๗๗] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อแนะนำเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสคาถาไว้ในเวลานั้นว่า”

“แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ {ในวัน} สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คาถานี้แล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่ปราศจาก ราคะ โทสะ และโมหะ”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า”

“แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ {ในวัน} สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ และโมหะ”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อแนะนำเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสคาถาไว้ในเวลานั้นว่า”

“แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็คาถานี้นั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพ ขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่พ้นไปจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นจากทุกข์”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า”

“แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้พ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า พ้นไปจากทุกข์แล้ว”

เสขสูตร ที่ ๒

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒)

อังคุตตรนิกาย เอกทุกติกนิบาต

เสขสูตรที่ ๒

// สิกขาบท ๑๕๐ / สิกขา ๓ / โสดาบัน / สกทาคามี / อนาคามี / อรหันต์ / สังโยชน์ ๓ / สังโยชน์ ๕ / ทำได้บางส่วน ย่อมสำเร็จบางส่วน ทำได้บริบูรณ์ ย่อมสำเร็จบริบูรณ์ / สิกขาบททั้งหลายไม่เป็นหมันเลย / อธิศีลสิกขา / อธิจิตตสิกขา / อธิปัญญาสิกขา

[๕๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้น รวมอยู่ด้วยทั้งหมด”

สิกขา ๓ นั้น เป็นไฉน คือ”

อธิศีลสิกขา ๑”

อธิจิตตสิกขา ๑”

อธิปัญญาสิกขา ๑”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้น รวมอยู่ด้วยทั้งหมด”

{พระโสดาบัน}

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้”

แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นผู้มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า”

{พระสกทาคามี}

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้”

แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะ เบาบาง จะมายังโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้”

{พระอนาคามี}

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้”

แต่สิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นผู้ผุดขึ้นเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา {เป็นพระอนาคามี} เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หมดสิ้นไป”

{พระอรหันต์}

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้”

แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ {เป็นพระอรหันต์}

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์ อย่างนี้แล”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย

พระพุทธศาสนาสอนอะไร (๑)

// พระพุทธศาสนาสอนอะไร

. พระพุทธศาสนาคืออะไร

พุทธศาสนา เป็นศาสนาเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ มีพระพุทธเจ้า ทรงเป็นพระศาสดา ซึ่งในโลกธาตุนี้ มีความเป็นมา นานแสนนาน ได้มีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาแล้ว มากมาย นับไม่ถ้วน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น ก็ทรงประกาศพุทธศาสนา พุทธศาสนาจึงมีมาแล้ว นับไม่ได้ นับไม่ถ้วน และจะมีต่อไปในอนาคตกาล สิ้นกาลนาน ฉะนี้แล

พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ ภาษาไทยเรียก โคดม เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ในกาลเวลาที่เรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเราทุกคนอยู่กันในสมัยนี้ พระพุทธเจ้าโคตมได้เสด็จปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลา ๒๕๕๘ ปีมาแล้ว พุทธศักราชนี้จึงชื่อว่า พ.. ๒๕๕๘ ฉะนี้

เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาตรัสรู้ในโลกก็เพื่อปลดปล่อยชาวโลก ให้ได้พ้นทุกข์ คือพ้นไปจากสังสารวัฏ เนื่องจากสัตว์โลก เป็นผู้ลุ่มหลง และเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ มาตลอดกาลนาน เมื่อมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสรู้ ได้เทศนาสั่งสอนชาวโลก ผู้ที่มีศรัทธาก็ออกบวช แล้วประพฤติตนให้อยู่ในศีล มีสมาธิ มีปัญญา และเมื่อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่อย่างนั้น ก็สามารถบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล ผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ได้เป็นพระอรหันต์ จะหลุดพ้นไปจากโลกนี้ หรือหลุดไปจากสังสารวัฏนี้ ไม่กลับมาเกิดอีก เรียกว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง เป็นผู้ถึงนิพพาน อันเป็นแดนเกษม เป็นที่ที่สุขอย่างยิ่ง เป็นที่เย็น เป็นที่ที่เป็นอมตะ ไม่มีการเกิด ไม่มีการเสื่อม ไม่มีการดับ ณ ที่นั้น

พระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้าโคตมะ ในพระชาติก่อนพระชาติสุดท้ายที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้เป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต สิ้นอายุไขยแล้วได้จุติในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พระชายาของพระเจ้าสุทโธทน พระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสด์ ในภัทรกัปนี้เอง คือทรงประสูตรเมื่อ ๒๖๓๘ ปีที่แล้ว (คำนวนโดย เอา พ.. นี้ คือ ๒๕๕๘ + ๘๐ = ๒๖๓๘)

เมื่อพระชันษาได้ ๒๙ พรรษา ได้เสด็จออกบรรพชา อีก ๖ ปีต่อมา ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพระชันษาได้ ๓๕ พรรษา นับจากนั้นได้ทรงแสดงธรรมต่อมนุษย์และเทวดา หรือเรียกว่าทรงแสดงธรรมต่อโลก ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา จึงเสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

การเสด็จปรินิพพานของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นการดับสนิท พระองค์ไปแล้วจากโลกนี้ ไม่กลับมาอีก เรียกว่าไม่เกิดอีก เปรียบเสมือนเปลวไฟ ที่ดับไป เพราะหมดเชื้อโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น

ในสมัยของพระองค์ พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง พุทธบริษัทประกอบด้วย () พระอรหันต์ () พระอนาคามี () พระสกทาคามี () พระโสดาบัน ในหมู่เทวดาและมนุษย์ ในหมู่ ภิกษุ สามเณร ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสศรัทธา ประพฤติปฏิบัติในพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง สืบเนื่องมาจนบัดนี้

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ จึงสรุปว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศพระศาสนา และทั้งพระพุทธเจ้าและพระศาสนา มีมาแล้วตลอดกาลนานของโลกนี้ นับจำนวนที่ผ่านมาไม่ได้ และจะมีต่อไปในอนาคต นับจำนวนไม่ได้ อีกเช่นกัน เนื่องจากสังสารวัฏนั้น ใครๆ ไม่สามารถกำหนดจุดเริ่มต้น และกำหนดจุดสิ้นสุดได้

. พระพุทธเจ้าสอนอะไร

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นผู้ประกาศศาสนาพุทธ ทรงตรัสรู้ สิ่งเดียวกัน และสอนอย่างเดียวกัน นั่นคือ อริยสัจ ๔ ซึ่งประกอบด้วย

  • ทุกข์
  • สมุทัย (การเกิดของทุกข์) – อ่านว่า สมุไท
  • นิโรธ (การดับของทุกข์) – อ่านว่า นิโรด
  • มรรค (วิธีดับทุกข์) – อ่านว่า มัก

อธิบายโดยย่อดังนี้ ก่อนที่จะมีปัญญา ดับทุกข์ได้ ต้องรู้จักทุกข์เสียก่อน เหมือนกับว่า จะต่อสู้กับศัตรู ก็ต้องรู้จักศัตรูเสียก่อน ว่าใคร คือผู้ที่เราจะต้องต่อสู้ด้วย นั่นเปรียบเสมือนการรู้ ทุกข์ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ ทุกข์ คือศัตรู  เราทั้งหลาย จะต้องเอาชนะศัตรูตัวฉกาจตัวนี้ให้ได้ นั่นคือ ทุกข์ ข้อ ๑ ของอริยสัจ ๔

เมื่อรู้จักศัตรูแล้ว ก็รู้การเกิดของมัน รู้ว่ามันเจริญขึ้นได้อย่างไร แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร อย่างนี้จึงเรียกว่า รู้จัก สมุทัย ข้อ ๒ ของอริยสัจ ๔

จากนั้นให้รู้จุดดับ คือจุดอ่อน ของศัตรู รู้ว่ามันจะดับ หรือพ่ายแพ้ ได้อย่างไร นั่นคือรู้ นิโรธ ข้อ ๓ ของอริยสัจ ๔

เมื่อรู้ศัตรู รู้การเกิดของมัน รู้การดับของมัน ต่อมาก็ต้องรู้วิธีต่อสู้ หรือวิธีดับมัน นั่นเรียกว่า มรรค ข้อที่ ๔ ในอริยสัจ ๔

 

ทุกข์ – พระองค์สอนว่า การเกิดเป็นทุกข์ การแก่เป็นทุกข์ การเจ็บเป็นทุกข์ การตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักเป็นทุกข์ การไม่ได้ตามความปราถนาเป็นทุกข์ ไม่ได้อย่างใจเป็นทุกข์ โดยย่อ สิ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นทุกข์ (สำหรับท่านที่จะศึกษาสูงขึ้นไป ควรศึกษา ขันธ์ ๕ พระองค์ตรัสว่า กล่าวโดยย่อ ขันธ์ ๕ นี้คือทุกข์ )

สมุทัย – การเกิดของทุกข์ ทุกข์เกิดได้เพราะ ตัณหา เพราะเรามีตัณหา ตัณหาคือความชอบ ความรัก ความเกลียด ความหลง หรือความกำหนัดในอารมณ์ต่างๆ เพราะคนมีตัณหา คนจึงทุกข์ ทุกข์จึงเกิด ฉะนี้ ตัวอย่างเช่น เราอยากทานอาหารอร่อยๆ แต่ร้านที่ทำมานี้ ทำไม่อร่อย เราก็หงุดหงิด อารมณ์เสีย (เกิดทุกข์) หรือเราอยากได้รถรุ่นนั้นรุ่นนี้ แต่เรายังไม่ได้ เพราะต้องหาเงิน หรือสะสมเงินจำนวนมากมาซื้อ ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้รถนั้น ก็ได้แต่พร่ำเพ้อหาอยู่ (เกิดทุกข์) หรือเราไม่อยากให้ร่างกายนี้ แก่ลง หรือเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆเลย แต่เราก็แก่ลงๆ หรือเจ็บไข้ เป็นโรคโน้น โรคนี้ (ทุกข์เกิด) หรือเราอยากประสบแต่โชคดี ทำอะไรก็สำเร็จ ไม่มีอุปสรรค แต่โชคไม่ดีก็มา อุปสรรคต่างๆก็มา (ทุกข์เกิด) หรือเราอยากได้เงินมากๆ แต่เงินก็ไม่มากซักที (ทุกข์เกิด) หรือเราอยากให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่เค้าก็ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่เราต้องการ (ทุกข์เกิด) ดังกล่าวมานี้ เพราะเราอยากโน่น อยากนี่ ไม่อยากอย่างโน้น ไม่อยากอย่างนี้ ท่านว่าเป็นการแส่หาเรื่อง เพราะมีตัณหา จึงมีทุกข์ อย่างนี้

นิโรธ – การดับของทุกข์ ทุกข์ดับได้เพราะ ตัณหาดับ เพราะเราละความชอบได้ ละความไม่ชอบได้ ละความรักได้ ละความเกลียดได้ ละความโกรธได้ ละความหลงได้ (เรียกรวมๆว่า ราคะ โทสะ โมหะ) ตัณหาจึงดับ เมื่อตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับ ฉะนี้ ดังเช่นว่า เมื่อเราไม่ต้องการสวย ไม่ต้องการเด่น เราก็ไม่ไปทำศัลยกรรม แต่งเสริมใบหน้า ทำให้เสียเงินเสียทอง หรือบางทีก็เกิดแทรกซ้อน ใบหน้าบูดเบี้ยวไปก็มี หรือว่าเมื่อเราไม่อยากได้เงินมากๆ เราก็ไม่ต้องดิ้นรน ขวันขวาย เพื่อเสาะหาเงินทองเหล่านั้น จนบางทียิ่งได้มาก ยิ่งมีความสุข ก็ยิ่งจะเอามากขึ้นไปอีก มากขึ้นๆ จนในที่สุด บางคนตายไป โดยยังไม่ทันได้ใช้เงินนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง ก็มี หรือเมื่อเราไม่สนใจในตำแหน่ง หน้าที่การงานใหญ่โต หรือเกียรติยศชื่อเสียง เราก็ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เกียรติยศชื่อเสียงเหล่านั้น หรือว่าเมื่อเราไม่ไปกำหนดว่า ใครๆจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เมื่อเค้าเป็นอย่างอื่นจากที่เราคิดไว้ เราก็ไม่เดือดร้อน และอีกมากมาย ดังเช่นพระอรหันต์ ที่ท่านไม่มีความปราถนาสิ่งใด มีจิตอยู่กับความไม่มี อยู่กับความไม่ต้องการ ประกอบด้วยเมตตาอยู่อย่างนั้น แม้กระนั้น ลาภ สักการะ สรรเสริญ ก็หลั่งไหลมาหาท่านตลอดเวลา เหมือนสายน้ำ เหมือนกับว่า ผู้ไม่หวัง ได้มาก ผู้โลภมาก ได้น้อย เป็นอย่างนั้น

มรรค – วิธีดับทุกข์ การดับทุกข์ ทำได้โดยใช้ มรรคมีองค์ ๘ หรือเรียกว่า อริยมรรค มีดังนี้

. สัมมาทิฐิ (มีความเชื่อ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง)

. สัมมาสังกัปปะ (คิดดี)

. สัมมาวาจา (พูดดี)

. สัมมากัมมันตะ (ทำดี)

. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพดี ถูกต้อง สุจริต)

. สัมมาวายามะ (พยายามถูกต้อง)

. สัมมาสติ (สติดี ถูกต้อง)

. สัมมาสมาธิ (สมาธิดี)

 

มรรคองค์ที่ ๑ – ความเชื่อที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) อีกนัยหนึ่งคือ ความรู้ อันควรรู้ ควรเชื่อ ในเบื้องต้นมีดังนี้

(ก) เชื่อว่าโลกนี้ โลกหน้ามีจริง คนเราตายแล้ว ไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ – ท่านว่า คนไม่เชื่อเรื่องนี้มักทำบาป มุ่งหาความสุขใส่ตนจนไม่คำนึงถึงความถูก ความผิด เพราะคิดว่า ตายแล้วก็จบ คนเช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้โง่ที่สุดในบรรดาคนโง่ทั้งหลาย

(ข) มนุษย์ทั้งหมด เมื่อตายแล้ว ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก น้อยแสนน้อย เปรียบเสมือนฝุ่นที่ติดปลายเล็บเทียบกับโลกทั้งใบ หมายความว่าถ้าบรรดามนุษย์ทั้งหมดเท่ากับโลกทั้งใบ (คำว่าโลก กรณีนี้หมายถึงแผ่นดินที่เราเหยียบอยู่นี้ทั้งหมด ไม่ใช่คำว่าโลกธาตุ) คนที่จะได้กลับมาเป็นคนอีกนั้นเท่ากับเศษฝุ่นนั้น และส่วนใหญ่ เมื่อตายแล้ว ไปเกิดใน นรก เดรัจฉาน หรือเปรต แม้เทวดา ก็เช่นกัน เมื่อตายแล้ว ได้กลับมาเป็นเทวดาอีก เท่ากับเศษฝุ่นที่ปลายเล็บ เมื่อเทียบกับโลกทั้งใบ เช่นเดียวกัน

(ค) วัฏฏะสงสาร หรือสังสารวัฏนี้ มีมาแล้ว นานแสนนาน หาจุดแรกเกิดไม่ได้ หาจุดสิ้นสุดไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายจึงเวียนเกิดเวียนตาย มาแล้ว ตลอดกาลแสนนานนี้

(ง) พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น เพื่อมาสั่งสอนสัตว์โลก เพื่อมาปลดเปลื้องสัตว์โลก ให้พ้นออกไป หรือให้หลุดออกไป จากสังสารวัฏนี้ สัตว์ที่มีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรม ได้ประพฤติปฏิบัติ ถือเป็นบุญอย่างยิ่ง เป็นลาภอย่างยิ่ง และเมื่อปฏิบัติจนพ้นไปได้แล้ว ก็ถึงที่สุดคือนิพพาน เท่ากับหลุดพ้นไปจากสังสารวัฏนี้ ผู้ที่ไม่ได้พบพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ ไม่ได้ปฏิบัติ ก็งมงายอยู่กับโลกนี้ เวียนว่ายตายเกิดต่อไป ตลอดกาลนาน หากมีบุญแล้ว ในกาลสักครั้งหนึ่งอาจจะได้พบพระธรรม และมีโอกาสได้ฝึก ได้ปฏิบัติ จนหลุดพ้นไปได้

(จ) นรก สวรรค์ มีจริง และมี เดรัจฉาน และเปรต เหล่านี้เป็นชื่อของ ภพ

(ฉ) ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว กล่าวคือ บุคคลมีศีลมีธรรม สั่งสมกุศลธรรมหรือบุญไว้มาก ได้ไปเกิดเป็นเทวดา อยู่บนสวรรค์ ผู้มีทั้งบุญทั้งบาป ได้เกิดในภพมนุษย์ ผู้มีบาปมากขึ้นอีก ได้เกิดเป็นเปรต บาปมากอีก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน บาปอย่างมาก เกิดในนรก

(ช) สัตว์ทั้งหลาย จะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก พระพุทธองค์ทรงเปรียบเสมือน เมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยน้ำ คือน้ำท่วมถึงกันหมด ไม่มีแผ่นดิน มีแอกไม้ไผ่อันหนึ่งอยู่ในน้ำนั้น ในแอกนั้น มีช่องตรงกลาง แล้วลมก็พัดแอกนั้น ไปทั่วโลก ไปทุกทิศ ในน้ำนั้น มีเต่าตาบอดอยู่ตัวหนึ่ง ทุกๆ ๑๐๐ ปี จะโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำเพื่อหายใจ แล้วจะมีสักครั้งหนึ่งที่หัวของมันโผล่ขึ้นมาแล้วลอดเข้าตรงช่องกลางของแอกไม้ไผ่นั้นพอดี และนั่นเท่ากับเป็นการประมาณถึง ความยาก ความง่าย ว่ากว่าท่านจะได้เป็นมนุษย์สักครั้งนั้น จะใช้เวลาแค่ไหน และยากสักเท่าไหร่

(ซ) กรรมดี คือกุศลธรรม กรรมชั่ว คืออกุศลธรรม ทำกรรมดีแล้ว ได้บุญ ทำกรรมชั่วแล้ว ได้บาป

(ฌ) กรรม มี ๓ คือ กายกรรม (กรรมทางกาย) วจีกรรม (กรรมทางวาจา) และมโนกรรม (กรรมทางใจ) ในบรรดากรรมทั้ง ๓ นี้ มโนกรรม ให้คุณให้โทษมากที่สุด ดังนั้นให้ระมัดระวังจิตใจของเราให้มาก หากพลั้งเผลอที่ใจ ก็ได้บาปแรง อกุศลแรง การพลั้งเผลอที่ปากหรือที่กาย ยังไม่เท่า ในความเป็นอัตภาพนี้ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว บุคคลผู้มีใจดี มีจิตใจสูง ความประพฤติทางกายและวาจา ย่อมดีตามไปด้วย ดังว่า ใจผ่องใส ทำให้กายผ่องใส วาจาก็ผ่องใส – ท่านว่า ผู้ใดละโกรธ (โทสะ) ได้ เท่ากับได้กุศลกองใหญ่ ได้เป็นถึงพระอนาคามี ตายแล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา จะปรินิพพานในภพนั้น – พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านไม่ทำกรรมที่มีโทษแม้แต่น้อย หรือจะทำกรรม ก็ทำกรรมอันมีคุณต่อผู้อื่น เช่น ท่านอยู่กับเมตตาจิตตลอดทั้งวัน หรืออยู่กับสุญตาตลอดทั้งวัน เป็นต้น บุคคลเช่นนั้น บาปจะไม่เกิดขึ้นจากใจท่านเลย และบุญ ท่านก็ไม่ต้องการอีก เพราะท่านหลุดพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว นั่นเอง

(ญ) สมัยนี้ พระพุทธศาสนาเสื่อมไปมาก การเสื่อมนี้ ก็เป็นธรรมดา ของโลกนี้ ของมีขึ้นมาได้ ก็เสื่อมได้ ของตั้งขึ้นได้ ก็ล้มได้ เพราะฉนั้นการเสื่อม เป็นของของโลกนี้ – ตัวอย่างความเสื่อมของสงฆ์สมัยนี้ เช่น พระฉันมากกว่า ๑ มื้อ พระรับเงินทอง พระห่มจีวรที่ไม่ได้ย้อมจากดิน หรือจากของที่ทำให้เสียสี เช่นเปลือกมังคุด เปลือกขนุน แต่นุ่งห่มจีวรเหลืองอร่าม พระเอาแต่สวดมนต์ ทำพิธีปลุกเสก พรมน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ เจ้าอาวาสกลายเป็นนักธุรกิจ วางแผนทำโครงการหาเงินเข้าวัดมีประการต่างๆ เน้นก่อสร้างวัตถุสิ่งของ เข้าไปในวัด ไม่ได้พบเห็นภิกษุ สามเณร ชี ประพฤติธรรมตามอย่างพระอริยะแต่โบราณ เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ ตลอดวันตลอดคืน เห็นแต่พระนั่งแช่เท้าในน้ำ นวดให้ผ่อนคลายเป็นหมู่ๆ นั่งสนทนาเรื่องชาวบ้าน สูบบุหรี่ ในวัดทั้งหลายต่างติดไฟฟ้า เครื่องเสียง เปิดเสียงดัง ออกมาจนนอกวัด ทั้งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ความสงัด ความเงียบ จนพระเจ้าอชาตศัตรู ในสมัยพุทธกาล เสด็จพร้อมพระสนมจำนวนมาก พร้อมเสนาอำมาตย์ พลช้าง พลม้า จตุรงคเสนา ไปในคืนเดือนเพ็ญ พระองค์สะดุ้งกลัว ขนลุก ขนชัน ได้ตรัสกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า “สหาย ท่านลวงเรามาฆ่าหรือนี่ ไฉนพระผู้มีพระภาคประทับอยู่กับหมู่สงฆ์ ๑๒๕๐ รูป ถึงได้เงียบสงัดเพียงนี้ ไม่มีแม้แต่เสียงไอหรือจาม …” ต่างกับสมัยนี้อย่างยิ่ง พระไม่แสดงธรรมของพระตถาคต (อีกชื่อหนึ่งของพระพุทธเจ้า) คือไม่แสดงอริยสัจ ๔ ไม่อธิบายโดยละเอียด ไม่ปลดเปลื้องสาธุชนจาก ความรัก ความโกรธ ความหลง แต่หวังลาภสักการะเป็นส่วนมาก นี้เป็นโดยย่อของความเสื่อมแห่งสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ ไม่ประพฤติธรรม พระธรรมย่อมเสื่อม เมื่อพระธรรมเสื่อม โลกก็จะเสื่อมไปๆ หายนะจะมีมาสู่โลกมากขึ้นๆ มันเป็นอย่างนั้น – ยังมีพระสงฆ์อยู่บ้างที่เริ่มกลับมาประพฤติตามธรรม ตามวินัย อย่างแท้จริง แต่ก็น้อยนักเมื่อเทียบกับหมู่ใหญ่

(ฎ) ประชาชนผู้บำรุงสงฆ์ผู้ทุศีลอยู่อย่างนี้ เท่ากับส่งเสริมให้ พระธรรมวินัย อันแท้จริง ทรุดลง เสื่อมลง ไปตามนั้น ดังว่า ใส่บาตรให้พระทุศีล ก็ไม่ต่างกับให้ทานกับคนขอทาน หรือบางที ให้คนขอทาน อาจได้บุญมากกว่าด้วยซ้ำไป

(ฏ) ภิกษุผู้บวชแล้วในศาสนานี้ แล้วไม่ประพฤติธรรม ไม่ประพฤติวินัยอันแท้จริง ย่อมตกนรก ได้บาปอย่างยิ่ง

(ฐ) ในวันที่พระศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสป (องค์ที่ ๓ ในภัทรกัป หรือองค์ก่อนพระพุทธเจ้าโคตมะ) จะสูญสิ้น โลกประหนึ่งว่าจะถล่มทลาย แผ่นดินไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น มีอุกาบาตตก มีสายฟ้าฟาด แม้น้ำประหนึ่งว่าจะร้องไห้ ภูเขาถล่มทลาย ดังท่านพระทัพพะเถระ (พระอรหันต์สมัยพุทธกาล) ได้เล่าไว้ พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสในพระสูตรอื่นๆว่า “เธออย่าได้เป็นคนสุดท้ายในศาสนาของเราเลย …”

(ฑ) กุศลธรรม ทำให้โลกเจริญ อกุศลธรรม ทำให้โลกเสื่อม ขณะนี้โลกกำลังเสื่อม มนุษย์ทั้งหลาย เคยมีอายุ หลายหมื่น หลายแสนปี หรือมากกว่านั้น ปัจจุบันอย่างมาก ร้อยกว่าปี หรือต่ำกว่านั้น … อายุมนุษย์จะลดลงเรื่อยๆ จนถึง ๑๐ ปี เมื่อนั้น ไม่มีคำว่า กุศล มนุษย์จะฆ่ากันตายเกือบหมดโลก จากนั้นมนุษย์ที่เหลือ ได้สติ พากันเริ่มต้นสร้างกุศลใหม่ อายุจึงเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึง ๘๐,๐๐๐ ปี สมัยนั้นจะเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป คือองค์ที่ ๕ ของภัทรกัปนี้ มีชื่อว่า พระเมตไตรย์สัมพุทธเจ้า

(ฒ) เพราะฉะนั้น โลกเจริญเพราะจิตใจคน โลกเสื่อมก็เพราะจิตใจคนเช่นกัน และยิ่งคนชั้นปกครองมีจิตใจเสื่อม คนทั้งหลายต่ำๆลงมาก็เสื่อมตาม ประเทศก็เสื่อมตาม ธรรมชาติต่างๆก็เสื่อมตาม ดังพระองค์ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหลายพระสูตร

(ณ) ไม่มีทางหลุดพ้นออกจากสังสารวัฏนี้ ในศาสนาอื่น มีแต่ศาสนานี้เท่านั้นที่สอนให้รู้เล่ห์ของโลกลวงๆนี้ และทำให้พ้นไปได้

(ด) คนทุกคน (รวมทั้งเทวดา) ที่ไม่เป็นโรคปัญญาอ่อน คือมีสติปัญญาบริบูรณ์แบบคนทั่วๆไป สามารถบรรลุธรรมได้ ทั้งหญิง ทั้งชาย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ขอเพียงมีกาย มีใจ รู้ได้ คิดได้ อย่างคนทั่วไป ไม่วิกลจริต

(ต) นิพพาน คืออมตธรรม เป็นที่ที่ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่มีอะไรๆเหมือนที่เราเห็น หรือที่เรารู้จัก ในโลกนี้ ไม่มีอะไรๆในนิพพาน เหมือนในโลกนี้ ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน หาอุปมาไม่ได้ ไม่สามารถหาคำพูดของโลกนี้ อธิบายได้ ผู้ที่ถึงแล้วเท่านั้น ถึงจะรู้จักนิพพาน นิพพานเป็นที่ที่ต้องเข้าถึงด้วยตนเอง ต้องรู้จักด้วยตนเอง

(ถ) สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียึดครองโลกอยู่อย่างสมัยนี้ คือว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รู้ๆกันอยู่ หรือทำๆกันอยู่ เป็นความรู้ทางโลก และเป็นความรู้เพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น ความรู้ของมนุษย์นี้นั้น เป็นสิ่งน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบสิ่งทั้งหลายทั้งมวล ในโลกธาตุนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมโพธิญาณ และทรงรู้แทงตลอดธาตุเป็นเอนก คือไม่มีสิ่งใดๆเลยในโลกธาตุทั้งหมด รวมไปถึงสิ่งที่เหนือกว่าโลกธาตุทั้งมวลนี้ (ซึ่งก็คือนิพพาน) ที่พระองค์จะไม่รู้ สิ่งที่พระองค์สอน พระองค์สอนเพียงเพื่อให้พวกเราพ้นทุกข์เท่านั้น พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องของโลกทั้งหมดแก่เรา เพราะหากจะพึงสอน เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้หมด และอาจจะถึงความเป็นบ้าได้ เรื่องของโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรรู้ให้มาก เป็นอจินไตย – อย่างไรก็ตาม พระองค์ได้สอนหลายเรื่องเกี่ยวกับโลก แต่ก็เพื่อให้เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด ในโลกเท่านั้น เช่น โลกธาตุทั้งมวล มีอยู่ แสนโกฏโลกธาตุ (พูดเป็นภาษาสมัยนี้เท่ากับ ๑ ล้านล้านโลกธาตุ) ในหนึ่งโลกธาตุ มี ๔ ทวีป คำว่าทวีป เท่ากับเป็นดาวๆหนึ่งของภาษาสมัยนี้ มีมนุษย์อยู่ในแต่ละทวีปเหล่านั้น มนุษย์แต่ละทวีป ไม่เหมือนกัน เป็นต้น – เพราะฉนั้น ตาเราไม่ได้เห็นทั้งหมดที่โลกมี หูเราไม่ได้ยินเสียงทุกเสียงที่มีในโลก มนุษย์เราไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ทุกสิ่งทุกอย่างของโลกนี้ เช่นเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เราได้เห็นได้ยิน เช่นกัน

(ท) มีมนุษย์ มีสัตว์ มีเทวดา มีต้นไม้ ใบไม้ มีสิ่งต่างๆในโลกเหมือนที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนมีมา ตลอดกาลนานแล้ว กล่าวคือ มันเกิดมีขึ้น แล้วสลายไป มีขึ้น แล้วสลายไป อยู่อย่างนี้ ไม่ได้เพิ่งมามีขึ้น เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกเราอยู่ในขณะนี้ ที่เขาบอกอย่างนั้น เพราะสิ่งนี้มันเกินวิสัยของพวกเรามนุษย์ธรรมดาๆจะรู้ได้นั่นเอง

(ธ) กายนี้เป็นของกรรมเก่า และสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นไปตามกรรม มีกรรมเป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นว่า เราเกิดมาเป็นคน ก็เพราะกรรม เป็นคนสวยคนหล่อ ก็เพราะกรรม เป็นคนรวย คนจน ก็เพราะกรรม มีอาชีพอย่างนี้ๆ ก็เพราะกรรม เกิดในที่นี้ๆ หรือที่โน้นๆ ก็เพราะกรรม เป็นสามีคนนี้หรือเป็นภรรยาคนโน้น ก็เพราะกรรม มีลูกคนนี้ๆ ก็เพราะกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเพราะกรรม ไม่สามารถหนีกรรมไปได้ นั่นเพราะเราต่างก็ทำกรรมกันมา นานแสนนาน ตลอดกาลผ่านมาแล้วนั่นเอง เพราะฉนั้น ใครสั่งสมกรรมดีไว้มาก หรือเรียกว่าทำกุศลไว้มาก ย่อมมีบุญมาก เขาย่อมเกิดเป็นเทวดาในชั้นต่างๆ หรือเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ส่วนผู้ที่มีบาปมาก ก็ตกอยู่ในนรก หรือเดรัจฉาน หรือเปรตวิสัย เพราะฉนั้น ทำดี ย่อมได้ดี ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว ดังคำท่านว่า

(น) พิธีกรรมต่างๆที่สงฆ์ทำกันสมัยนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่พระศาสนาเรียกว่าเป็น ดิรัจฉานวิชา ทั้งสิ้น

(บ) การสวดมนต์ที่ทำกันมากในสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นคำบาลี มีใจความทำนอง บูชา สรรเสริญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เนื่องจากผู้ที่สวดส่วนใหญ่ ไม่ได้เข้าใจคำที่ตนเองสวดนั้น คำบูชา ก็ไม่ได้บูชา คำสรรเสริญ ก็ไม่ได้สรรเสริญ ก็เป็นเพียงการฝึกความจำ และบ่นๆออกไปเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ตนเองเข้าใจในอรรถ ในธรรม แต่ประการใด อีกทั้งบทสวดเหล่านั้น ไม่ได้เป็นคำของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำที่มีการแต่งขึ้นเองเป็นส่วนใหญ่ โอกาสผิดก็มีมาก กล่าวโดยสรุปคือ การสวดมนต์ที่เห็นอยู่ ไม่ได้เป็นกิจของสงฆ์ ไม่มีอานิสงส์อะไร กิจของสงฆ์คือศึกษาพระธรรมวินัย น้อมนำเข้ามาในใจ ทำตนให้อยู่ในศีล มีมารยาท มีความเรียบร้อยทางกาย วาจา ใจ ไม่ทำบาปใดๆ แม้เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ลุกขึ้นในยาม ๓ (ราวๆ ตี ๒ สมัยนี้) นั่งสมาธิ เดินจงกรม เวลารุ่งเช้าถึงเที่ยงวัน ออกบิณฑบาต หากได้อาหารก็ฉัน ไม่ได้ก็ไม่ฉัน ฉันวันละ ๑ มื้อ (ประมาณว่า จาก ๖ โมงเช้า ถึงเที่ยงวัน) เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งสมาธิ เดินจงกรม จนสิ้นยามแรกของราตรี (หมด ๓ ทุ่ม ขึ้น ๔ ทุ่ม สมัยนี้) ยาม ๒ (สี่ทุ่มถึงตีสอง) นอนในท่าสีหไสยาสน์ (ตะแคงขวา ซ้อนเท้า ใช้มือและแขนขวาท้าวขึ้น ลักษณะคล้ายพระพุทธรูปในปางไสยาสน์) ยาม ๓ ลุกขึ้น วนรอบอยู่อย่างนี้

สำหรับมรรคองค์อื่นๆนั้น ให้ศึกษาในชั้นสูงขึ้นไป ในชั้นนี้จะกล่าวถึงการย่อ มรรค ๘ ออกเป็น ๓ คือ ๑. ศีล  ๒. สมาธิ  ๓. ปัญญา ดังว่า ผู้มีศีลย่อมได้สมาธิ ผู้มีสมาธิย่อมได้ปัญญา

ศีล – ศีล ๕ เรียกได้ว่าเป็นพรหมจรรย์ขั้นต้น ประกอบด้วย ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ๒. ไม่ลักทรัพย์ ๓. ไม่พฤติผิดในกาม ๔. ไม่พูดปด ๕. ไม่ดื่มสุรา

ผู้ใดมีศรัทธาอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมกับมีศีล ๕ นี้บริบูรณ์ เท่ากับผู้นั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยขั้นต้น คือพระโสดาบัน

สมาธิ – ผู้มีศีลย่อมได้สมาธิ กล่าวคือ ผู้มีศีลเป็นผู้มีกาย วาจา ใจ สงบ รำงับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่อ่อนไหว จิตของผู้นั้น ย่อมสงบ รำงับ แน่วแน่ ขึ้น เรียกได้ว่ามีสมาธิ  อีกประการหนึ่งคือเป็นผู้ไม่เหินห่างจากฌาน (เรื่องของฌาน ต้องศึกษาอย่างละเอียดต่อไป)

ปัญญา – เมื่อจิต ตั้งมั่น ปัญญา อันไม่ใช่ความรู้ของมนุษย์ทั่วไป ก็เกิดขึ้น เรียกว่ารู้ในสิ่งที่ผู้ใดไม่รู้ไม่เห็น ผู้ได้อรหันต์ เท่ากับได้เห็นนิพพาน อีกประการหนึ่งคือมีความเข้าใจในโลก ตามความเป็นจริง เข้าใจในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์

. ทำแล้วจะได้อะไร

ผู้มีศรัทธา แล้วประพฤติธรรม จะได้ความสุข ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า หากบรรลุธรรม ก็เท่ากับหลุดพ้น ไปจากสังสารวัฏนี้

เพราะผู้มีศีล ย่อมได้ อวิปปฏิสาร คือความไม่มีเวร ไม่มีภัย ย่อมอยู่เป็นสุข ทำอะไรมักสำเร็จ ได้รับความสะดวก มีผู้สนับสนุน ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั้งหลาย มีโรคน้อย หากไม่มีผลของบาปที่หนักจริงๆก็จะอยู่เป็นสุขได้ เรียกว่ามีความสุขทางกาย  ผู้มีศีล ย่อมได้สมาธิ

ผู้มีสมาธิ จิตจะผ่องใส เนื่องจากเป็นจิตที่คลายจากโลก คลายจากอกุศล หากจิตคลายจาก นิวรณ์ ๕ ได้ ก็จะเป็นจิตที่มีอานุภาพมาก มีพลังมาก เมื่อจิตผ่องใสเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้ทางกายดีขึ้นไปด้วย ผู้ที่ได้ฌาน ๑ ถึง ฌาน ๔ ก็ยิ่งจะเป็นผู้เป็นสุข ทั้งทางกายและทางใจ จะเป็นผู้อยู่เป็นสุขมากในโลก เมื่อมีสมาธิ ย่อมได้ปัญญา

ผู้มีปัญญา ย่อมรู้จักศัตรู คือทุกข์ ย่อมรู้จักเหตุเกิดและเหตุดับแห่งทุกข์ ย่อมรู้จักวิธีดับทุกข์ อีกนัยหนึ่ง คือรู้อริยสัจ ๔ เข้าใจความเป็นไปของโลก ในแง่มุมต่างๆ รู้จักคิด รู้จักทำ คือรู้กุศล รู้อกุศล เมื่อเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยความเพียร อยู่ตลอดเวลา อยู่ทุกวัน หรืออยู่ทุกขณะ ย่อมเป็นผู้บรรลุธรรมขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้นั้นย่อมมีโอกาสบรรลุอรหันต์ คือดับ หรือพ้นไปจากโลก

เมื่อได้อรหันต์แล้ว จิต จะปราศจากตัณหา จะไม่ไปสร้างภพสร้างชาติใหม่อีกต่อไป เท่ากับชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อรอคอยความตายเท่านั้น เมื่อตายแล้ว ทุกอย่างก็ดับสนิท เข้าสู่นิพพานอันเป็นแดนเกษม

โดยสรุปคือ ผู้มีศีล ย่อมได้อวิปปฏิสาร นั่นคือเป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย มีกายเป็นสุขในชาตินี้ ผู้มีสมาธิ มีจิตผ่องใส จิตมีพลัง ได้รับความสุขทางใจ ผู้มีปัญญาย่อมได้เป็นอริยบุคคล คือ

  1. โสดาบัน เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ และจะบรรลุธรรม ได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ และไม่มีทางได้ชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์
  2. สกทาคามี (อ่านว่า สกะทาคามี) ตายแล้วจักเกิดอีกเพียงครั้งเดียว (มนุษย์หรือเทวดา) แล้วจะปรินิพพานในภพนั้น
  3. อนาคามี ตายแล้วเป็นเทวดา (พรหม) และปรินิพพานในภพนั้น
  4. อรหันต์ ปรินิพพานในชาตินี้ คือเมื่อตายแล้ว ก็ดับไป เข้าสู่นิพพาน

. จะเริ่มต้นอย่างไร

(๑) เริ่มต้นจาก ศรัทธา เมื่อมีศรัทธาก็น้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนไปประพฤติ ปฏิบัติ คนสมัยนี้บอกว่าประพฤติธรรมๆ เหมือนจะบอกว่า ประพฤติเฉพาะเมื่อไปสถานปฏิบัติธรรม หรืออยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์เท่านั้น อย่างนั้น ไม่ถูกต้อง อีกประการหนึ่ง ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ในสมัยนี้ ก็ทำผิด ประพฤติผิด มีมิจฉาทิฐิ ไม่เคารพพระธรรมวินัย ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่ออาจารย์เป็นอย่างนี้ ลูกศิษย์ก็ผิดไปตามนั้น ที่ถูกต้องคือ น้อมนำเข้ามาในจิตในใจของตน แล้วประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดวันตลอดคืน ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับ ต่างหาก ถึงจะถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้ไปทำงานทำการ หรือทำกิจใดๆอันฆราวาสพึงกระทำ แต่ให้ทำกิจเหล่านั้น โดยมีศีล มีธรรม เป็นเครื่องประกอบ หรือเป็นเครื่องควบคุม ต่างหาก

อยากจะแนะนำดังนี้ เริ่มต้นต้องมีศรัทธา เชื่อในพระพุทธเจ้า ยึดมั่นในพระธรรม และเลื่อมใสในพระสงฆ์ (อย่างน้อยก็พระสงฆ์ในสมัยก่อน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เช่นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ หรือพระอรหันต์ หรือพระสาวกผู้ประพฤติดีทั้งหลาย)

(๒) ต้องมีสัมมาทิฐิ เริ่มต้นจากข้อก่อนหน้า ให้เข้าใจสิ่งเหล่านั้น

(๓) ถือศีล ๕

(๔) บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม ด้วยการพนมมือและตั้งจิตระลึกถึงพระคุณ และตั้งจิตเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ

(๕) ฝึกสมาธิแบบอานาปนสติ โดยนั่งที่สงบๆ เงียบๆ เอาจิตตั้งไว้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้ลมหายใจนั้นตลอดสายของมัน ว่าสั้น หรือว่ายาว ทำทุกวัน ยิ่งมาก ยิ่งดี ทำเพียงชั่วลมเข้าออกก็มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่ต้องนับถึงว่าทำให้มาก ทำให้บ่อยกว่านั้น อีกประการหนึ่ง อานาปนสติ พระองค์ว่า เป็นที่ดับแห่งอกุศลทั้งปวง เพราะฉนั้นจึงได้อานิสงส์ใหญ่ ได้ผลใหญ่ และการเจริญอานาปนสตินี้ เพียงอย่างเดียว ธรรมะข้ออื่นๆจะเจริญขึ้นตามไปด้วยทั้งหมด จนถึง วิชา วิมุติ (นิพพาน) นั่นเลยทีเดียว

(๖) ฝึกเดินจงกรม เดินธรรมดา ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป สายตาทอดต่ำ ดูพื้น ระวังการก้าวเท้า วางเท้า ในทุกๆก้าว ตั้งจิตไว้ที่เท้า และการก้าวไป เท่านั้น อาจเดินเป็นวงกลม แล้ววนซ้ำรอบอยู่อย่างนั้น หรือเดินไปกลับๆ อยู่อย่างนั้น ทำทุกวัน ทำให้มาก ทำให้บ่อย การเดินก็เดินอย่างปกติ ไม่ใช่แบบที่สอนกันว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ อะไรแบบนั้น

(๗) ฝึกละสิ่ง ๖ อย่างนี้ คือ ไม่กินมาก ไม่นอนมาก ไม่พูดมาก ไม่เพื่อนมาก ไม่งานมาก ไม่ปล่อยอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ๖ อย่างนี้พระองค์เรียกว่าเป็นธรรมแห่งความเสื่อม

(๘) มีความเพียร ทำให้มาก ทำให้บ่อย จะรู้ได้ว่าท่านจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ

การเรียนพระพุทธศาสนานั้น ก็เหมือนกับการเรียนในวิชาทางโลกอื่นๆ คือต้อง จำได้ ทำได้ และต้องหมั่นฝึกซ้อมอยู่บ่อยๆ จึงจะเกิดความเข้าใจ เกิดความเชี่ยวชาญ จนในที่สุด หลุดพ้น เปรียบเสมือนคนเรียนวิชาช่างไม้ ก็ต้องฝึกหัด อย่างโน้น อย่างนี้ ใช้เครื่องมืออันโน้น อันนี้ จนนานวันเข้า ด้ามจับต่างๆของเครื่องมือนั้น ก็สึกไป แหว่งไป เว้าไป พอเอามือจับก็รู้ดีว่าด้ามมันเว้าไป แหว่งไป ฉะนั้น หรือเหมือนนักกีฬายิงปืน เมื่อซ้อมยิงเข้าๆ นานวันเข้า จากรอยกระสุนที่ห่างเป้า ก็กระเถิบใกล้เข้ามาๆ จนเมื่อยิงนัดใด ก็เข้าที่ตรงกลางทุกนัด ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

สรุปก็คือ ทำให้มาก ทำให้บ่อย มีความเพียร

อีกประการหนึ่ง การเรียนพุทธศาสนา ไม่ใช่การเรียนโดยท่องจำมนต์ ท่องแล้วสวดๆๆ ไม่ใช่เป็นการเรียนการประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีการใช้น้ำมนต์ หรือสิ่งของอื่นๆเป็นต้น แต่เป็นการเรียนเพื่อ ทำความเข้าใจ เข้าใจในอะไร ในอริยสัจ ๔ เข้าใจแล้วทำอะไร เข้าใจแล้วต้องปฏิบัติ คือเจริญ มรรคมีองค์ ๘ และประพฤติตามธรรมตามวินัยต่างๆ ที่พระศาสดาทรงสอนไว้ นั่นต่างหาก คือการเรียนในศาสนานี้ — เปรียบเสมือนการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ว่า มีเลข 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 เมื่อนำ 0 + 1 ได้ 1 เมื่อ 1+1=2 เมื่อ 2+2=4 เป็นต้น คือ ต้องทั้งจำ ทั้งเข้าใจ และต้องปฏิบัติ ครบทั้งหมดนั่นเอง

. จะปฏิบัติให้สูงขึ้นได้อย่างไร

ควรศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกโดยตรง ให้เน้นตรงพระพุทธพจน์ หรือพุทธวัจจนะ โดยตรง โดยมากจะอยู่ในพระสุตตันตปิฎก เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการศึกษาพระธรรม ที่พระพุทธองค์ตรัสด้วยพระองค์เอง เปรียบเสมือนได้ไปนั่งฟังพระธรรมต่อหน้าพระพักต์ร่วมกับภิกษุสงฆ์เมื่อครั้งโบราณเลยทีเดียว และมีเพียงพระพุทธองค์เท่านั้น ที่สามารถแสดงธรรมได้ถูกต้อง ไม่ผิด และทำให้ธรรมะที่เป็นของยากอย่างยิ่งนี้ ง่ายขึ้นมาได้

ศึกษาขันธ์ ๕

ฝึกมรรคมีองค์ ๘ ให้ยิ่งๆขึ้นไป

ฝึก ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆขึ้นไป

ฝึกอานาปานสติ ให้ยิ่งๆขึ้นไป จนละนิวรณ์ ๕ ได้ ตลอดจนได้ฌาน ๑ ถึง ๔

ศึกษาปฏิฏจสมุปบาท

ศึกษาโพชฌงค์ ๗

ศึกษาสติปัฏฐาน ๔

ศึกษาพรหมวิหาร ๔

ศึกษาพระวินัย

และอื่นๆ

เมื่อปฏิบัติมากขึ้นๆ ท่านจะรู้สึกว่า ตัวเองอยู่ใน กระแสแห่งธรรม อยู่ตลอดเวลา ในตลอดทั้งวันทั้งคืน ออกห่างจากโลกไปเรื่อยๆ ราวกับว่าโลกเริ่มจะไม่สามารถทำอะไรๆกับท่านได้เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเราถูกจิตนี้ หลอกหลอนอยู่ ถูกจิตนี้ จูงไปจูงมาอยู่ เราเคยเป็นทาสของมัน บัดนี้ เราเริ่มมีสติ เริ่มรู้ตัว เริ่มไม่ยอม เราเริ่มขัดขืน เริ่มฝืนใจ เริ่มควบคุมได้ และในที่สุด เราก็จะอยู่เหนือครรลองของจิตได้ จิตกลายเป็นทาสของเรา ดั่งที่มันเป็นทาสของพระอรหันต์ทั้งหลาย นั่นเอง

ท่านที่เป็นผู้ฝึกหัด ปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ขออนุโมทนา ขอให้ท่านได้สำเร็จ มรรคผล ในอนาคตกาลอันใกล้นี้เทอญ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เริ่ม และเมื่ออ่านบทความนี้จบลง เริ่มมีศรัทธา ก็ขอบอกว่า ยังไม่สายเกินไป เริ่มเสียวันนี้ ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า การจะได้เข้ามารู้อริยสัจ ๔ นี้ เร่งด่วนยิ่งกว่าการรีบดับไฟที่ไหม้อยู่บนผมของเธอเสียอีก … นับเป็นโอกาสอันเลิศแล้ว

ขอทุกท่านจงเป็นผู้สำเร็จ เป็นผู้ถึงฝั่ง ด้วยกันทุกท่าน ทุกคน เทอญ

หมายเหตุ แหล่งข้อมูลพระไตรปิฎก สามารถอ่านได้ที่ www.84000.org หรือ www.etipitaka.com หรือมีแหล่งที่ได้คัดเลือกพระสูตรที่สำคัญๆ และได้เรียบเรียงใหม่ตามหลักภาษาไทย อ่านง่าย มีการจัดเรียงเพื่อให้เหมาะแก่การศึกษา ค้นคว้า ที่เว็บนี้ http://lokutara.org ต่อไปอาจจะมีการเขียนบทที่ ๒ ต่อจากบทนี้ เพื่อแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีก

ขอเชิญอ่านตอนที่ ๒ ต่อได้แล้ว

อานาปานสติสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
. อานาปานสติสูตร (๑๑๘)

[๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นมากรูปด้วยกันเช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระมหากปิณะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระอานนท์ และพระสาวกผู้เถระมีชื่อเสียงเด่นอื่นๆ

ก็สมัยนั้นแลพระเถระทั้งหลายพากันโอวาทพร่ำสอนพวกภิกษุอยู่ คือพระเถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง ฝ่ายภิกษุนวกะเหล่านั้นอันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

[๒๘๓] ก็สมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีจันทร์เพ็ญ วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ทั้งเป็นวันปวารณาด้วย ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราปรารภในปฏิปทานี้ เรามีจิตยินดีในปฏิปทานี้ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอจงปรารภความเพียร เพื่อถึงคุณที่ตนยังไม่ถึง เพื่อบรรลุคุณที่ตนยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งคุณที่ตนยังไม่ทำ ให้แจ้งโดยยิ่งกว่าประมาณเถิด

เราจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนี้แล จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท

พวกภิกษุชาวชนบททราบข่าวว่าพระผู้มีพระภาคจักรออยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น จนถึงวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เป็นที่บานแห่งดอกโกมุท จึงพากันหลั่งไหลมายังพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฝ่ายภิกษุผู้เถระเหล่านั้นก็พากันโอวาทพร่ำสอนภิกษุนวกะเพิ่มประมาณขึ้น คือภิกษุผู้เถระบางพวกโอวาทพร่ำสอนภิกษุ ๑๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๒๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๓๐ รูปบ้าง บางพวกโอวาทพร่ำสอน ๔๐ รูปบ้าง และภิกษุนวกะเหล่านั้น อันภิกษุผู้เถระโอวาทพร่ำสอนอยู่ ย่อมรู้ชัดธรรมวิเศษอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ตนรู้มาก่อน

[๒๘๔] ก็สมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมประทับนั่งกลางแจ้งในราตรีมีจันทร์เพ็ญ เป็นวันครบ ๔ เดือนแห่งฤดูฝนเป็นที่บานแห่งดอกโกมุท วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ซึ่งนิ่งเงียบอยู่โดยลำดับ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ไม่คุยกัน บริษัทนี้เงียบเสียงคุย ดำรงอยู่ในสารธรรมอันบริสุทธิ์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่ควรแก่การคำนับ ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การกระทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก อย่างหาที่อื่นยิ่งกว่ามิได้

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทที่เขาถวายของน้อย มีผลมาก และถวายของมาก มีผลมากยิ่งขึ้น

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันชาวโลกยากที่จะได้พบเห็น

ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ เป็นเช่นเดียวกันกับบริษัทอันสมควรที่แม้คนผู้เอาเสบียงคล้องบ่าเดินทางไปชม นับเป็นโยชน์ๆ”

[๒๘๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสัญโญชน์ในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นอุปปาติกะ เพราะสิ้นสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำทั้ง ๕ จะได้ปรินิพพานในโลกนั้นๆ มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็นธรรมดา แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่” {อนาคามี}

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระสกคาทามี เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบาง มายังโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุสงฆ์นี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ผู้เป็นพระโสดาบันเพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ อย่าง มีอันไม่ตกอบายเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสติปัฏฐาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

[๒๘๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญสัมมัปปธาน ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอิทธิบาท ๔ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอินทรีย์ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญพละ ๕ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญโพชฌงค์ ๗ อยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญเมตตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญกรุณาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญมุทิตาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอุเบกขาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอสุภสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอนิจจสัญญาอยู่ แม้ภิกษุเช่นนี้ในหมู่ภิกษุนี้ก็มีอยู่”

อานาปนสติ

[๒๘๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีภิกษุในภิกษุสงฆ์นี้ที่เป็นผู้ประกอบความเพียรในอันเจริญอานาปานสติอยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

 

[๒๘๘] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า”

เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า”

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว”

หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว”

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น”

หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

สติปัฏฐาน ๔

[๒๘๙]ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

(พิจารณาเห็นกายในกาย)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดเมื่อภิกษุหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว การใส่ใจลมหายใจออกลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่งในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแลในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นจิตในจิต)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า”

ดูกร ภิกษุทั้งหลายใน สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวอานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแลในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

(พิจารณาเห็นธรรมในธรรม)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุสำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า”

สำเหนียกอยู่ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจ ออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้”

“ดูกร ภิกษุทั้งหลายในสมัยนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้วย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้นภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้”

โพชฌงค์ ๗

[๒๙๐] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

(กายในกาย)

ดูกร ภิกษุทั้งหลายสมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉย จิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(เวทนาในเวทนา)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(จิตในจิต)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

(ธรรมในธรรม)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียรรู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้นสติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดสติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้าไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

เมื่อเธอค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรองถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดจิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

 

ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยใดภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิต ที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้”

วิชชาและวิมุตติ

[๒๙๑] “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไรจึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธอันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย”

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบ อานาปานสติสูตร ที่ ๘