ทีฆนขสูตร — ทรงแสดงธรรมแก่ท่านทีฆนขปริพาชก เรื่อง ทิฐิ กาย เวทนา และการหลุดพ้น

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

. ทีฆนขสูตร


สารบัญ : วิญญูชนละทิฐิอย่างไร / การพิจารณากาย / การพิจารณาเวทนา / การหลุดพ้น / ท่านพระสารีบุตรบรรลุธรรม


(เรื่องทีฆนขปริพาชก)

[๒๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ปริพาชกชื่อทีฆนขะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ความจริงข้าพเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ มีปกติเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อัคคิเวสสนะ แม้ความเห็นของท่านว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา นั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน

ทีฆนขปริพาชก “ท่านพระโคดม ถ้าความเห็นนี้ควรแก่ข้าพเจ้า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้น” {หมายความว่าหากคำที่พระศาสดาได้ทรงตรัสมานั้น ควรแก่ท่านทีฆนขะแล้ว ท่านทีฆนขะก็เห็นว่าเป็นความเห็นที่ดี หรือคำที่ดี คือยอมรับตามด้วย}

พระผู้มีพระภาค อัคคิเวสสนะ ชนในโลก ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้นละความเห็นนั้นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมาก คือมากกว่าคนที่ละได้{คือแม้คนที่กล่าวตามความเห็นผู้อื่นว่าดีนั้น ความเห็นตัวก็ยังละไม่ได้ แถมยังไปยึดเอาความเห็นผู้อื่นอีก คนที่ยึด กับความเห็นต่างๆเหล่านี้ มีจำนวนมากกว่า คนที่ละความเห็นต่างๆได้}

อัคคิเวสสนะ ชนในโลกผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น แม้ความเห็นนั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นทั้งนั้น ดังนี้ ชนเหล่านั้น ละความเห็นนั้นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อย คือน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้{คือแม้คนที่กล่าวตามความเห็นผู้อื่นว่าดีนั้น มีน้อยคน ที่จะสามารถละความเห็นของตัวเองได้}

(ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท)

[๒๗๐] อัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็มี

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา นั้น ใกล้ข้างกิเลส อันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า ท่านพระโคดมทรงยกย่องความเห็นของข้าพเจ้า”

พระผู้มีพระภาค อัคคิเวสสนะ ในความเห็นนั้นๆ ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา นั้น ส่วนที่เห็นว่าควร ใกล้ข้างกิเลส อันเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างกิเลสเป็นเหตุยึดมั่น

ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุกล้ำกลืน ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นเหตุยึดมั่น”

{ทรงแสดงว่าวิญญูชนละทิฐิอย่างไร}

[๒๗๑] อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในความเห็นของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรานั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า เราจะยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า {คือฝังแน่นอย่างยิ่ง ปักใจ ไม่เปลี่ยนไปอย่างอื่นเลย ไม่พิจารณาอย่างอื่นเลย} เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ พวกนี้ คืสมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตน ดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้ที่มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งทิฏฐิของเราว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ คือ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ๑

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตน ดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้นย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้”

อัคคิเวสสนะ บรรดาความเห็นนั้น ในทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้นั้น วิญญูชนย่อมเห็นตระหนักว่า ถ้าเราจะยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทิฏฐิของเราว่า บางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรา ดังนี้ แล้วยืนยันโดยแข็งแรงว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า เราก็พึงถือผิดจากสมณพราหมณ์ ๒ พวกนี้ คือ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา ๑ สมณพราหมณ์ผู้มักกล่าวอย่างนี้ มักเห็นอย่างนี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา ๑

เมื่อความถือผิดกันมีอยู่ดังนี้ ความทุ่มเถียงกันก็มี เมื่อมีความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันก็มี เมื่อมีความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกันก็มี

วิญญูชนนั้นพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน และความเบียดเบียนกัน ในตน ดังนี้อยู่ จึงละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ยึดถือทิฏฐิอื่นด้วย การละ การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้นย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้”

{ทรงสอนให้พิจารณากาย}

[๒๗๒] อัคคิเวสสนะ ก็กายนี้มี รูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้ง {หรือเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม} มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีกันเป็นนิจ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา

ท่านควรพิจารณาโดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตน

เมื่อท่านพิจารณาเห็นกายนี้ โดยความ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นดังผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า เป็นของมิใช่ตนอยู่ ท่านย่อมละความพอใจในกาย ความเยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้

(เวทนา ๓)

{ทรงสอนให้พิจารณาเวทนา}

[๒๗๓] อัคคิเวสสนะ เวทนา อย่างนี้ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ {คือรู้สึกว่า ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นกลางๆ}

อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น

ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น

ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

อัคคิเวสสนะ สุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา

แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

{การหลุดพ้น}

อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาท แก่งแย่งกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ

{ท่านพระสารีบุตรบรรลุอรหัตผล}

[๒๗๔] ก็โดยสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์{เบื้องหลัง}พระผู้มีพระภาค ได้มีความดำริว่า “ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคตรัสการละธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย ได้ยินว่าพระสุคตตรัสการสละคืนธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย” เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นตระหนักดังนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

{ท่านทีฆนขได้ดวงตาเห็นธรรม}

ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้ว แก่ทีฆนขปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”

(ทีฆนขปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก)

[๒๗๕] ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันถึงแล้ว มีธรรมอันทราบแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุ{จัก}เห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้น เหมือนกัน ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ดังนี้แล

(จบ ทีฆนขสูตร ที่ ๔)


{หมายเหตุ – ท่านพระสารีบุตรได้บรรลุธรรม ตามแสดงในพระสูตรนี้ ซึ่งเป็นเวลาร่วม ๒ สัปดาห์ หลังจากได้นำบริวารพร้อมกับท่านพระโมคคัลลานะ ๒๕๐ คน มาจากสำนักของท่านสัญชัย ส่วนท่านทีฆนขปริพาชกนั้น เป็นหลานของท่านพระสารีบุตรที่ได้มาเยี่ยมอาของท่านหลังจากบวชแล้วเป็นครั้งแรกนั่นเอง

การแก้ไข – ๑ เพิ่มเครื่องหมาย () ครอบคำที่เป็นชื่อเรื่อง ชื่อหัวข้อ หรือการจบพระสูตร /๒ ใส่เครื่องหมาย {} ครอบคำที่ผู้เรียบเรียงเพิ่มเติมทั้งหมด /๓ เปลี่ยนตัวเลขจากเดิมที่เป็นตัวหนังสือ เช่นคำว่า สอง เป็นตัวเลขแทน คือ ๒ เป็นต้น /๔ ใส่คำแปลในคำบาลีที่สำคัญๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนขึ้น โดยขีดเส้นใต้แบบเป็นจุดๆใต้คำศัพท์และคำแปลนั้นๆ

คำสืบค้น : ทิฐิ กาย รูป มหาภูตรูป มหาภูต เวทนา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน อนัตตา ท่านพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชก หลุดพ้น }

[ไปบนสุด]

พระพุทธศาสนาสอนอะไร (๒)

พุทธศาสนาสอนอะไร

ตอน ๒

สำหรับท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ ๑ ขอแนะนำให้อ่านก่อนก็จะเป็นการดี

สารบัญ : อริยบุคคล / อรหันต์ / นิพพาน / ขันธ์ ๕ / อริยสัจ ๔ / อริยสัจ ๔ เบื้องต้น / ทุกข์ / สมุทัย / นิโรธ / มรรค / นิวรณ์ ๕ / อานาปนสติ / เดินจงกรม

. โลกทั้งมวลเป็นทุกข์ สัตว์โลกทั้งหลายล้วนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารมาแล้วตลอดกาลยาวนาน สุขทุกข์ใดๆในโลกล้วนมีไว้ก็เพื่อหลอกล่อสัตว์ทั้งหลายให้ยึดติดกับโลกอยู่ต่อไป ตลอดกาล เท่านั้น

. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์ที่มีบุญ บารมี มีสติ ระลึกได้ มีความเพียร อุตสาหะ รู้จักนำพาตนเองให้พ้นจากกองทุกข์อันใหญ่หลวงนี้ ก็พระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่จะเกิดมีได้บ่อยๆ ต่อเมื่อกาลล่วงอันยาวนานนักหนาสักครั้งหนึ่ง ถึงจะมีเท่านั้น

. พระพุทธองค์สอนให้รู้จัก () ทุกข์ () เหตุแห่งทุกข์ () รู้เหตุดับแห่งทุกข์ และสุดท้าย () รู้วิธีพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกว่า อริยสัจ ๔

. เมื่อสัตว์โลกผู้มีปัญญา ประพฤติธรรมตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว ได้บรรลุธรรมขั้นอริยบุคคล ตั้งแต่ ๑(๑. โสดาบัน ๒. สกทาคามี ๓. อนาคามี ๔. อรหันต์) ความเห็นแจ้ง ความสุข ก็บังเกิดขึ้นกับสาวกทั้งหลาย

ผู้ที่บรรลุถึงขั้นอรหันต์ เรียกว่า บรรลุธรรม เรียนจบ จบปริญญาในพระศาสนา เป็นผู้หลุดพ้น ถึงฝั่ง คือนิพพาน

นิพพาน เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง ที่พ้นไปจากโลก สงบ เย็น เกษม เป็นอมตะ พระอรหันต์เมื่อยังไม่สิ้นอายุขัยก็อยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขยิ่ง ถึงแม้ร่างกายยังมีอยู่ในโลก ยังได้รับการกระทบกระทั่งต่างๆ ทางกาย ทางหู เกิดความรู้สึกร้อน หนาว เจ็บ ไม่เจ็บ เหมือนคนทั่วไป แต่จิตใจท่านพ้นไปแล้ว ทำให้ไม่ยี่หระ หรือไม่สะทกสะท้าน ไม่คร่ำครวญ ไม่กระวนกระวาย ในเรื่องต่างๆ อาการต่างๆ หรือสภาพต่างๆของโลกอีกต่อไป

ท่านเพียงรู้ เพียงเห็น ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ เป็นไปตามกรรม ที่เสกสรรปั้นแต่ง เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย มีเกิด มีดับ ธรรมทั้งหลายเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ดับไปตามเหตุ ตามปัจจัย ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ล้วนเป็นธรรมดาของโลก

โลกทั้งหมดทั้งมวลนี้กลับกลายเป็นดั่งธุลี หรือเป็นดังอากาศ อันว่างเปล่า สำหรับพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย ไม่ควรค่าอะไรแก่การนับ การยึดถือ ไม่สลักสำคัญอะไรๆเลย

ท่านเหล่านั้นก็เพียงอยู่ในโลกนี้ไปตามกรรม และเพื่อเอื้อเฟื้อต่อสัตว์โลกทั้งหลายเท่านั้น เปรียบเสมือนดอกบัว หรือใบบัว ที่อยู่กับน้ำตลอดเวลา แต่น้ำหาได้ถูกต้องดอกบัวหรือใบบัวนั้นไม่

เมื่ออายุขัยแห่งพระอรหันต์หมดไป สิ่งทั้งปวงอันเป็นของโลก ที่ชาวโลกนับเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นชีวิตนั้น ก็ดับไป ทั้งหมดทั้งสิ้น

พระศาสนาบัญญัติว่า โลกนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ชีวิตนี้ (หรืออีกนัยหนึ่ง สังขารทั้งหลาย) ประกอบด้วย ขันธ์ทั้ง ๕ คือ () รูป () เวทนา () สัญญา () สังขาร และ () วิญญาณ หมายความว่าที่ชาวโลกเรียกว่าคนๆ มนุษย์ๆ หรือสัตว์ทั้งหลายนั้น ความจริงแล้ว เป็นธาตุอยู่ ๕ อย่าง (๕ ขันธ์) ตามที่ว่ามานั้น

เมื่อสิ้นอายุไขย ธาตุทั้ง ๕ ขันธ์นั้นก็ดับไปหมดสิ้นสำหรับพระอรหันต์ แต่สำหรับคนทั่วไปนั้น เมื่อตายลง ที่เห็นว่าตายนั้น ความจริงเป็นเพียงรูปธาตุเท่านั้นที่ตายลง รูปธาตุคือทั้งหมดที่ประกอบเป็น เนื้อ หนัง มังสา ตับ ไต ไส้ พุง อะไรต่อมิอะไรต่างๆเหล่านั้น แต่ขันธ์ที่ยังเหลือยังต้องไปสู่กายใหม่ รูปใหม่ ในภพหน้าของตัว คือ อาจไปเกิดในนรก ในสัตว์เดรัจฉาน ในเปรต หรือในมนุษย์อีก หรือในเทวดา ก็แล้วแต่กรรมของตน

แต่ของพระอรหันต์ การตายของท่านเรียกว่า นิพพาน หรือปรินิพพาน คือตายจากโลกนี้ ดับจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง ไม่เกิดในโลกอีก ไม่ว่าภพไหนๆ หากแต่ท่านดับจากโลกนี้ไปสู่นิพพาน แดนเกษมนั้น กลับสู่สภาพดั้งเดิม เดิมแท้ เป็นอมตะนิรันดร์ ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายในโลกนี้ ในวัฏสงสารนี้อีกตลอดไป

นี้เรียกว่าการบรรลุ การหลุดพ้น การเข้าสู่ความเป็นอมตะ ความเป็นเลิศ สุดยอดแห่งธรรมชาติทั้งมวล

!!! การอธิบายนี้เป็นเพียง เบื้องต้น เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้เท่านั้น หากแต่ถ้าอธิบายตามหลักธรรมชั้นลึกแล้ว ผู้ที่เป็นอริยบุคคลจะไม่เรียกกายนี้ ชีวิตนี้ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เลย ท่านจะเห็น หรือเข้าใจว่า เป็นธาตุ ธาตุต่างๆ เป็นขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

. ก็พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้วนั้นเป็นไฉน – คืออริยสัจ ๔ นั่นเอง

คือทุกขอริยสัจ คือโลกทั้งมวลเป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหา เพราะมีตัณหา สัตว์โลกจึงต้องทนทุกข์ เวียนเกิด เวียนตาย มาแล้วตลอดกาลนาน และจะเวียนเกิดเวียนตายต่อไปอีกตลอดกาลนาน

ทุกขนิโรธอริยสัจ เหตุดับแห่งทุกข์

เหตุดับแห่งทุกข์คือตัณหาดับ เมื่อสัตว์โลกทั้งหลายไม่มีตัณหาในจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นอยู่นี้ก็ดับไป ไม่มีอะไรเลย แต่เพราะสัตว์โลกทั้งหลายยังมีตัณหาอยู่อย่างเหนียวแน่น โลกอันเต็มไปด้วยความทุกข์อันน่าเวทนาเหล่านี้ ยังอยู่ต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือวิธีดับทุกข์ มี ๘ องค์ คือ

() สัมมาทิฐิ (มีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง)

() สัมมาสังกัปปะ (คิดดี)

() สัมมาวาจา (พูดดี)

() สัมมากัมมันตะ (ทำดี)

() สัมมาอาชีวะ (อยู่ดี หรือหากินเลี้ยงชีพถูกต้อง)

() สัมมาวายามะ (พยายามถูกต้อง)

() สัมมาสติ (มีสติถูกต้อง)

() สัมมาสมาธิ (สมาธิถูกต้อง หรือการฝึกจิตถูกต้อง)

การปฏิบัติธรรม ก็คือการปฏิบัติมรรค ทั้ง ๘ องค์ ในชีวิต น้อมนำเข้ามาในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นชีวิตที่ดำเนินอยู่นั้นก็มีการกำกับด้วยมรรคอันมีองค์ ๘ อันประเสริฐนั้น

ความสุขก็บังเกิด ผลก็บังเกิด ความเจริญในโลกก็บังเกิด สภาพจิตใจของคนผู้นั้นก็ดีขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ความเบื่อหน่ายในตัณหาก็มากขึ้น จนในที่สุด ตัณหานั้น ก็ดับไปหมดสิ้น

เมื่อตัณหาถูกทำลายสิ้นแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้บรรลุอรหันต์ ได้สัมผัสถึงนิพพานอันเป็นสุดยอดของธรรมชาติทั้งมวล ด้วยประการฉะนี้

อริยสัจ ๔ เบื้องต้น

ทุกข์ – โลกทั้งมวลเป็นทุกข์

เหตุใดโลกทั้งมวลจึงเป็นทุกข์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีความเป็นอมตะ ไม่เที่ยงแท้ ล้วนแต่แปรปรวนไปตลอดเวลา กล่าวคือสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย ความเป็นไปตลอดอายุของสัตว์นั้น ล้วนแต่มีทุกข์โดยมาก เช่นต้องหิว ต้องหนาว ต้องร้อน ต้องแก่งแย่ง ต้องทะเลาะ ต้องไม่พอใจ ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ ไม่จากตัวเอง ก็จากผู้อื่น หรือจากสิ่งต่างๆ

อันว่าสัตว์*ทั้งหลายนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่มนุษย์มองเห็นอยู่เท่านี้ไม่ ยังมีภพภูมิอื่นๆ ที่มนุษย์ทั่วไปไม่เห็น เช่น นรก เปรต เทวดา และอื่นๆอีก – สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ ทั้งหมดนั้นก็ล้วนแต่ประสบเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ ความโศก ด้วยกันทั้งสิ้น (* คำว่าสัตว์ในที่นี้ ใช้ความหมายที่คนเข้าใจได้ทั่วไปก่อน)

มนุษย์ก็ทุกข์อย่างมนุษย์ เทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา สัตว์เดรัจฉานก็ทุกข์อย่างเดรัจฉาน เปรตได้รับทุกข์เป็นส่วนมาก จะได้รับความสุขบ้างก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น มนุษย์ได้รับสุขทุกข์คละเคล้ากันไป ไม่ว่ารวยว่าจน ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งฐานะใด แม้ว่าเป็นราชามหากษัตริย์ก็ยังมีทุกข์มีร้อน ลองพิจารณาให้ดีๆ ใคร่ครวญไปตามนี้ ผู้ที่ไม่เห็นทุกข์แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงผู้หลง และเป็นผู้หนี คือวิ่งหนี ไม่อยากเจอ แต่ก็หนีไม่พ้น ต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ส่วนสัตว์นรกนั้นเป็นสัตว์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความแผดเผา ด้วยความทุกข์ทรมานอันยิ่ง ไม่มีความสุขจะได้รับเลยแม้เพียงเสี้ยววินาที

พระศาสดากล่าวไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม” กรรมย่อมส่งสัตว์ไป ใครจะไปเกิดยังที่ใดๆ ภพไหน ภูมิไหน ได้รับสุข ทุกข์ อย่างไรๆ ก็เพราะผลแห่งกรรมที่ตนทำนั้นแล

สัตว์ทุกตัวในโลกนี้เมื่อตายไป ที่ๆจะไปส่วนใหญ่นั้นคือ นรก เดรัจฉาน และเปรตวิสัย เกือบทั้งหมดเลยทีเดียว จะได้กลับมาเป็นมนุษย์ เทวดาอีกนั้น ก็น้อยแสนน้อย พระพุทธองค์ทรงเทียบกับฝุ่นที่พระองค์ทรงช้อนขึ้นที่ปลายเล็บนั้นว่า ประมาณเท่ากันกับจำนวนสัตว์ที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีก ส่วนที่เหลือนั้นเล่า พระองค์ทรงเทียบกับแผ่นดินของทั้งมหาปฐพีนี้ คือที่มนุษย์เรียกว่าโลก ที่เหยียบอยู่นี้ (คำว่าโลก ในทางพุทธกับที่มนุษย์เดี๋ยวนี้เรียกกัน มีความหมายต่างกันมากทีเดียว)

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ผู้ที่ฉลาดควรเริ่มตระหนักถึงทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ ศึกษาเรื่องทุกข์ หันหน้าเผชิญกับมัน แล้วต่อสู้กับมัน ตามที่พระศาสดาได้ทรงพระเมตตาสั่งสอนพวกเราไว้เถิด

ทำได้ดังนี้ก็จะเป็นกุศล เป็นการเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เข้าสู่ทางธรรม เข้าสู่ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ (มีความเชื่อความเข้าใจถูกต้อง)

ข้อนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

สมุทัย – เหตุเกิดแห่งทุกข์คือตัณหา

ตัณหา ถ้าจะแปลให้เข้าใจเป็นเบื้องต้น ให้ง่าย ก็คือ ความติดใจ หรือความมัวเมา หรือความชอบใจ ติดใจ ในสิ่งต่างๆ (คำแปลในที่นี้ ไม่ได้ยึดตามตำรับตำราที่ได้มีการสอนมีการแปลกันก่อนๆมา แต่แปลมาจากความหมายในพระไตรปิฎก ให้ออกมาเป็นคำที่สมัยนี้จะเข้าใจได้ถูก หรือใกล้เคียงมากที่สุด ฉะนั้นบางทีท่านผู้รู้มาอ่านเนื้อหานี้ก็อาจจะไม่ชอบใจ อาจเห็นว่าแปลไม่ถูกตามที่เคยเห็นมา แต่ข้าพเจ้ามุ่งหวังความเข้าใจของคนสมัยนี้เป็นหลัก และคำนึงถึงความถูกต้อง ตามพระธรรมที่ได้ทรงสั่งสอนเท่านั้น เป็นหลัก – หากมีข้อแนะนำอย่างไรอันจะปรับปรุงเนื้อหานี้ให้ดีขึ้นก็ยินดี ส่งมาได้ที่ team@lokutara.org)

โดยย่อ และเป็นเบื้องต้น เมื่อสัตว์ติดใจ ชอบใจ หรือมัวเมา ในสิ่งใดแล้ว ก็อยากที่จะได้ยินได้ฟัง ได้เห็น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส แม้แต่ได้คิดถึง สิ่งเหล่านั้น อยู่ร่ำไป หรือตลอดไป

เมื่อสัตว์ทั้งหลาย (สัตว์หมายถึงที่คนสมัยนี้เรียกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมด รวมทั้ง คน เทวดา เปรต เดรัจฉาน และสัตว์นรกด้วย เป็นต้น) ติดใจอยู่ หลงไหลอยู่ มัวเมาอยู่ นั่นก็เท่ากับสัตว์นั้นได้ถูกล่ามโซ่ เป็นโซ่ตรวน ไว้ที่แขน ที่ขา หรือที่คอ คือล่ามติดกับภพ ผูกติดกับภพ จะติดอยู่ในภพตลอดไป ติดอยู่ในโลกตลอดไป

ท่านจึงว่า “ตัณหาเป็นเครื่องผูก ทำสัตว์ให้เกิดอีก” เพราะฉะนั้นสัตว์ใด ยังมีตัณหา สัตว์นั้นย่อมต้องเกิดอีกร่ำไป ไม่มีวันจบสิ้น ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้น ก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรมของตน (เบื้องต้น บุญ คือกรรมดี บาปคือกรรมชั่ว)

ผู้ที่กล่าวว่า “ไม่อยากตาย” หรือ “อยากกลับมาเกิดอีก” ก็นับว่าเป็นผู้ที่ไม่รู้จักทุกข์ เป็นผู้ยังไม่รู้จักตัณหา โดยแท้จริง ยังมีตัณหา เครื่องมัวเมาอยู่นั่นเอง เปรียบเสมือน วัวควาย ที่ถูกเจ้าของล่ามอยู่ ไม่สามารถจะไปไหนตามใจชอบได้ นั่นเอง

ข้อนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

นิโรธ – ความดับแห่งทุกข์

ความดับแห่งตัณหา เรียกว่า นิโรธ

คำเต็มเรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

คือเมื่อสัตว์ใดไม่มีตัณหาในทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว หรือเรียกว่าสิ้นตัณหาแล้ว จิตท่านก็ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งต่างๆในโลกอีกต่อไป เมื่อจิตไม่ผูกพันกับโลกแล้ว ก็ย่อมดับ คำว่าดับในที่นี้คือ ภพชาติ ที่จะเกิดต่อไป ไม่มีอีกแล้ว ดับไป ดังท่านว่า “เปรียบเสมือนตาลยอดด้วน” หรือ “ต้นไม้ที่ถูกถอนรากขาดแล้ว”

เมื่อตัณหาดับไปทั้งหมด ผู้นั้นจะมีความรู้เกิดขึ้นว่า ชาติสิ้นแล้ว ภพดับแล้ว ชาติใหม่ ไม่มีอีก ได้เป็นพระอรหันต์ ได้เห็นนิพพาน จิตพ้นแล้วจากความสกปรก (อาสวะ) ทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีแต่ความสุข เบิกบาน ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไปตามอายุขัย เมื่อตายแล้วทุกอย่างก็ดับสิ้น กายก็ตาย วิญญาณหรือจิต ก็ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างดับหมด มีแต่วิมุติญาณทัสสนะ ในนิพพานเท่านั้น

สรุปแล้ว ความเป็นเรา แท้จริงไม่ใช่ร่างกายที่เห็นนี้ ไม่ใช่วิญญาณที่ครองร่างนี้อยู่ ไม่ใช่อะไรก็ตามที่มี ที่เป็นอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่สัตว์ยังไม่หลุดพ้นไป หรือยังไม่พบเจอนิพพาน สัตว์ก็เป็นสัตว์ แต่เมื่อใดที่พ้นทุกข์แล้ว หลุดพ้นแล้ว พบเห็นนิพพานแล้ว ปรินิพพานแล้ว สัตว์นั้นได้กลายเป็นวิมุตติญาณทัสสนะ อยู่ในนิพพานนั่นเอง

นิพพาน ไม่ใช่โลก แต่เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง เป็นอมตะ เป็นที่เกษม และในนั้นไม่มีอะไรๆเหมือนในโลกนี้ ทุกอย่างที่เราเห็นและไม่เห็นในโลกนี้ ไม่มีในนิพพาน

ดังนั้น นิพพานเป็นของเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ และเป็นเราโดยแท้จริง (หมายถึงหากเราไปถึง คือหลุดพ้นแล้ว)

ในนิพพานไม่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีหิว กระหาย ไม่มีหนาว ไม่มีร้อน ไม่มีทุกข์ใดๆ โดยสิ้นเชิง ท่านจึงว่า เป็นแดนเกษม

ไม่ได้หมายความว่ามีสัตว์ มีรูปร่าง เช่นคน เทวดา หรือเดรัจฉาน หรืออื่นๆ อยู่ในนิพพาน – ก็ท่านว่า อะไรๆที่มีในโลก ที่เป็นโลก ไม่มีในนิพพาน

ผู้ที่จะสัมผัสนิพพาน หรือรู้เห็นนิพพานได้นั้น ต้องฝึกปฏิบัติ ให้บรรลุ ให้รู้ ให้เห็นเอง ดังท่านว่า “ธรรม อันบุคคลพึงเห็นเอง”

ถามว่า นิพพาน อยู่ที่ไหน – ท่านว่า “นิพพานอันมีในที่ใกล้” หมายความว่า นิพพานก็อยู่ใกล้ๆเรานี่แหละ มีปัญญา (หรือมีวิชา) เมื่อไหร่ก็เห็นได้ เข้าได้ทุกเมื่อ หรือเมื่อปรินิพพาน (คือการตายของผู้ที่หมดกิเลส) เมื่อไหร่ ก็ไปได้ทันที

ความดับพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ก็มีด้วยประการฉะนี้”

มรรค – วิธีดับทุกข์

คำเต็มคือ อริยมรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือวิธีดับทุกข์

มี ๘ ด้าน หรือ ๘ องค์ ท่านจึงเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘

. สัมมาทิฐิ – คือความเชื่อ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อธิบายอย่างง่ายก่อน คือผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อตามพระพุทธศาสนา เข้าใจตามอริยสัจ ๔ ตระหนักถึงทุกข์ รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ รู้เหตุดับแห่งทุกข์ แล้วนั้น ผู้นั้นเริ่มมีสัมมาทิฐิ

อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ศึกษา รู้ตามหลักอันแท้จริงของพระพุทธศาสนา รู้จักกรรม รู้จักนรก สวรรค์ รู้จักกุศล อกุศล และมีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ขัดแย้ง นั่นแหละมีสัมมาทิฐิ คือมีความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง

เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงห์ มีความศรัทธา น้อมนำพระธรรมเข้ามาประพฤติในตนเอง อย่างนี้เป็นสัมมาทิฐิ

รู้ว่าทำชั่วได้บาป ทำดีได้บุญ รู้ว่าเราทำอะไรๆ ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น ทำความดีย่อมได้บุญ ทำความชั่วย่อมได้บาป กรรมดีคือกุศล กรรมชั่วคืออกุศล

อันว่ากรรมนั้น มี ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม คือกรรมทางกาย กรรมทางวาจา และกรรมทางใจ

คนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยนี้ คิดว่าการโกหกเป็นสิ่งปกติ ทำได้ ไม่เสียหาย คิดว่าไม่มีใครรู้ เขาจึงโกหกโดยทั่วไป ไม่ยึดถือคำพูดตน ไม่รักษาคำพูดตน – ก็การโกหก พูดเท็จ เป็นวจีกรรมอันชั่ว เป็นอกุศลธรรม ผู้ที่โกหก ย่อมได้รับผลกรรมอันเกิดจากการพูดโกหกนั้น

คนเราสมัยนี้คิดว่าเราจะคิดอะไรๆ ย่อมไม่มีใครรู้ เพราะฉะนั้นเราคิดได้หมด คิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้ ไม่มีผลอะไร สิ่งนี้เป็นมิจฉาทิฐิ (เข้าใจผิด) แท้ที่จริง มโนกรรมนี้เป็นบาป อกุศล

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็ธรรมชาติอันเรียกว่าจิตนี้ เป็นธรรมชาติอันละเอียด เป็นธาตุละเอียด และยิ่งกว่านั้น สภาพอันละเอียดของโลกนั้น ย่อมกระทบกระทั่งกันหมด รู้กันได้ทั่วไปหมด เพราะว่าธาตุอันละเอียดทั้งหมดนั้นย่อมเชื่อมกันไปทั้งหมด เปรียบเสมือนบุคคลหยดยาพิษลงไปในแม่น้ำ อีกไม่นาน ปลาเอย สัตว์น้ำเอย ตลอดจนต้นไม้ ใบไม้ ที่อยู่รอบๆบริเวณนั้น ย่อมได้รับอันตราย นี่แสดงให้เห็นว่า ที่เห็นว่าน้ำมันใสๆ เหมือนไม่มีอะไรต่อ หรือเชื่อมกัน ระหว่างปลาตัวหนึ่งกับปลาอีกตัวหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้วมันไปถึงกันได้

เปรียบเสมือนบุคคล ๒ คน คนหนึ่งส่งกลิ่นเหม็นออกมา กลิ่นเหม็นนั้นก็ไปถึงอีกคนในเวลาไม่นานเลย ทั้งๆที่เมื่อมองดูอยู่ก็ไม่มีอะไรมาเชื่อมต่อระหว่างคน ๒ คนนั้น แต่ก็มีลมพาเอากลิ่นเหม็นของตัวนั้นไปให้ผู้อื่นได้

ธรรมชาติของโลก หรือของสิ่งทั้งมวลก็เช่นเดียวกัน มีธาตุอันละเอียด ที่เชื่อมกันไปหมด การทำกรรมดี กรรมชั่วของท่าน ไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ จะไม่มีทางหลุดพ้นไปได้ – ขอให้รู้ไว้อย่างนี้

ผู้มีความรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ และเชื่ออย่างนี้ เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ

ผู้มีสัมมาทิฐิอย่างนี้ เป็นผู้มีโอกาสจะตรัสรู้ธรรมได้ เป็นผู้เปิดประตูเข้าสู่ธรรมะ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ และเป็นผู้มีโอกาสที่จะหลุดพ้นต่อไป

. สัมมาสังกัปปะ – คือความคิดดี อันว่าคนเรา หรือเทวดา หรือสัตว์ ที่มีปัญญา ย่อมนึกคิด แต่คนทั้งหลายมักคิดไปในทางกาม คือคิดไปในทางที่จะหาความสุขใส่ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตา (ความสุขทางตา) ทางหู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ และยิ่งเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสจะคิดในทางบาปอกุศล เป็นอันมาก

ความคิดในทางไม่ดี หรือมิจฉาสังกัปปะคือคิดไปในทางหาความสุข (ทางโลก) ตามที่กล่าวมาแล้วนี้เรียกว่า คิดไปในทางกาม

อีกอย่างหนึ่ง มักคิดไปในทางพยาบาท คือความไม่ชอบ ความเกลียด ความชัง ความอาฆาต ความแค้น ความโกรธ เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าคิดผิด เป็นบาป

อีกอย่างหนึ่ง คือคิดไปในทางเบียดเบียน คือคิดจะทำร้ายผู้อื่น หรือใครๆ หรือสัตว์ เมื่อคนคิดจะทำร้ายอีกคน ผลก็คือเขาทำร้ายอีกคน – เพราะความคิดย่อมมาก่อนการกระทำนั้น – นี่ก็เป็นความคิดไม่ดี

คิดดีคือไม่คิดไปในทางกาม พยาบาท เบียดเบียน ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่คิดตรงกันข้าม คือแทนที่จะคิดหาความสุขทางกาม ก็คิดที่จะออกจากกาม เช่นหาความสงัด ใคร่ครวญธรรม วิจัยธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม อย่างนี้ หรือเห็นโทษของกาม เห็นโทษของพยาบาท เห็นโทษของการเบียดเบียน หรือใคร่ครวญธรรม พิจารณาสิ่งต่างๆรอบตัวแล้วเห็นสัจธรรม นี่เรียกว่าใคร่ครวญธรรม เหล่านี้เป็นสัมมาสังกัปปะ

แทนที่จะคิดพยาบาทผู้อื่น ก็คิดช่วยเหลือเขา ช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย ให้พ้นทุกข์ ให้บรรเทาจากทุกข์ เป็นต้น

การพิจารณาธรรมเพื่อเข้าใจในสิ่งทั้งหลาย เพื่อเข้าใจในอริยสัจ เหล่านี้ จัดเป็นการคิดดีทั้งสิ้น

. สัมมาวาจา – พูดดี ท่านว่า ดังนี้

คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด คือยุให้แตกสามัคคี ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหลไร้สาระ ไม่มีประโยชน์

. สัมมากัมมันตะ – คือทำดี อันนี้คือการกระทำทางกาย หรือกายกรรมนั่นเอง

เช่นไม่ฆ่า ทำร้าย ไม่ลักขโมย ไม่ล่วงเกินหญิงที่มีผู้ปกครอง ไม่เป็นชู้กับชายอื่นที่ไม่ใช่สามี ไม่ดื่มสุรา เป็นต้น

. สัมมาอาชีวะ – คือการเลี้ยงชีพถูกต้อง หมายความว่าการที่ชีวิตนี้จะเป็นไป คือสืบทอดต่อไป ก็ต้องหาอาหารมาให้มัน การหาอาหารมาสืบทอดชีวิตนี้นั้น ต้องถูกต้อง ไม่ใช่โดยการขโมย โดยการโกง โดยการไปบังคับขู่เข็นเขามา โดยการประกอบอาชีพทุจริตทั้งหลาย

อาชีพทุจริตที่เป็นบาป เช่น ฆ่าสัตว์ ค้าอาวุธ ค้าของมึนเมา เสพติด อาชีพหลอกลวง ถ้าเป็นภิกษุ สามเณร หรือผู้บวชในศาสนานี้ ต้องเลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตเท่านั้น ไม่สะสมเงินทอง เพื่อไปซื้อสิ่งใด

การเลี้ยงชีวิต รวมถึงการดูแลชีวิตนี้ตามจำเป็น ตามฐานะ เช่นการนุ่งห่มร่างกาย การรักษาโรค การรักษาทรัพย์ การทำหน้าที่ต่างๆอย่างมีศีลมีธรรมกำกับไว้อย่างดี ถ้าเป็นฝ่ายสงฆ์ ก็ทำกิจที่สงฆ์ควรกระทำ ตามพระธรรมวินัย

. สัมมาวายามะ – มีความเพียรถูกต้อง

ความเพียรคือความขยัน ต้องมีความขยันถูกต้อง ทำไมความขยันต้องถูกต้อง ก็เพราะคนเราที่มีความขยันอยู่ ก็ไม่น้อย แต่ไปขยันผิดที่ เช่นขยันทำงาน ขยันทำร้ายผู้อื่น ขยันพูดไม่ดี ขยันคิดไม่ดี แต่ขยันถูกต้องในที่นี้คือ ให้มาขยันประพฤติปฏิบัติธรรม อันว่าพระธรรมและการบรรลุธรรมเป็นสิ่งยาก ไม่ใช่จะบรรลุได้ง่ายๆ หากผู้คนเอาแต่ขยันทำสิ่งอื่นๆแล้วไซร้ จะบรรลุธรรมได้อย่างไร สัมมาวายามะก็คือ ขยันประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม นั่นเอง

ดังท่านว่า “ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม” นั่นคือประพฤติสม่ำเสมอ ไม่ขาดช่วง หรือจะเรียกให้ถูก ควรเรียกว่าใช้ชีวิตตามธรรม ก็ว่าได้ นั่นคือธรรมะ อยู่ในชีวิตนี้ ไม่ต้องมาบอกว่าเวลานั้น เวลานี้ ก็ทั้งชีวิตนี้นั่นแหละ คือการประพฤติธรรม

อีกอย่างหนึ่ง การถือศีล ทั้งศีล ๕ อุโบสถศีล (ศีล ๘) ก็เป็นการประพฤติธรรม เป็นสัมมาวายามะด้วยกัน เช่นกัน

. สัมมาสติ – มีสติ ระลึกถึงพระธรรมวินัย ระลึกรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเช่นไร ครั้งรู้แล้วก็ควบคุมให้เป็นไปในทางกุศล ทางดี ทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าทำอะไรก็เป็นไปตามพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีศีลธรรมทั้งสิ้น

อีกประการหนึ่ง เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ คำว่าสัมปชัญญะ คือการรู้ตัว รู้อากัปกริยาของตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน การก้าวไป การหันหน้า การแลตา หรืออื่นๆ เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง การเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยการพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม อยู่บ่อยๆ เรื่องสติปัฏฐานนี้น่าจะได้สาธยายเป็นการเฉพาะต่อไป

อันว่าสตินั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะทำอะไรท่านให้มีสติกำกับไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนั้น เหตุที่ต้องมีสตินั้นเพราะเหตุว่า เราทั้งหลายนั้น (หากยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์) ล้วนเป็นผู้หลง เป็นผู้มัวเมา เป็นผู้ยังมีกิเลสอยู่ทั้งสิ้น สติจึงจำเป็น เพื่อให้ระลึกได ระลึกถึงอะไร ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ ถึงพระศาสนา ระลึกถึงกุศลธรรมต่างๆได้ ไม่เผลอไผล ไปทำอกุศล และให้หลุดออกจากความเพลิดเพลิน หลุดออกจากความมัวเมา – ผู้ที่มีสติดีก็เท่ากับมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งธรรมอย่างสม่ำเสมอ หรือตลอดเวลา

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายย่อมเป็นผู้ที่สติไม่ขาดตอน ไม่ขาดช่วง เป็นสติบริสุทธิ์นั่นเอง อีกประการหนึ่ง ท่านว่า “สติยึดเหนี่ยวด้วยวิมุติ วิมุติมีนิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยว” นั่นแสดงว่าหากผู้ใดระลึกได้อยู่ตลอดเวลา คือมีสติอยู่ได้ตลอดเวลา ย่อมเป็นผู้อยู่ใกล้วิมุติ และนิพพาน อยู่เสมอ นั่นเอง

. สัมมาสมาธิ – เป็นผู้มีสมาธิดี มีจิตตั้งมั่น

สมาธิดีคือเป็นผู้ไม่ว่อกแว่ก มีจิตใจที่แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน จนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

คำว่า ดี ในที่นี้คือ สมาธิที่เจริญดี ในทางธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ เป็นฌาน

ไม่ใช่สมาธิแบบที่ชาวโลกมีได้โดยทั่วๆไป

เป็นผู้จางคลายใน นิวรณ์ ๕ ประการ นั่นคือ () กาม () โกรธ / พยาบาท () ความง่วงเหงาหาวนอน () ความฟุ้งซ่าน และ () ความสงสัย หรือความไม่เชื่อ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ผู้ที่มีนิวรณ์ ๕ จางคลายแล้วนี้ จะเป็นผู้ที่มีความสุขมากขึ้น มีจิตปลอดโปร่ง โล่งสบาย ไม่อมทุกข์ เนื่องจากจิตได้คลายจากฝุ่นผงชั้นต้น คือตัวที่ทำให้จิตหม่นหมอง ไปตามส่วนแล้ว นั่นเอง

อีกประการหนึ่ง เป็นผู้อยู่สงัด แสวงหาความเงียบ สงบ สงัด คือปราศจากคน ปราศจากเสียงอึกทึก ห่างจากความวุ่นวาย แล้วเจริญสมาธิตั้งแต่ ปฐมฌาน จนถึง ฌาน ๔ ตามลำดับ – เรื่องของฌานทั้ง ๔ นี้คงจะต้องเป็นการอธิบายโดยเฉพาะโดยละเอียดต่อไป

การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ คือการตั้งจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้า และออก สังเกตุว่าลมหายใจนั้นยาว หรือสั้น ก็รู้ถึงความยาว ความสั้น ความเข้า ความออก ของลมหายใจของตนนั้น อย่างนี้ก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง

การเดินจงกรมโดยยืนอย่างสำรวม ในที่สงัด เดินไป เดินกลับ หรือเดินเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ช้าๆ ตั้งจิตไว้ที่อากัปกริยาแห่งการเดินนั้น (คนละอย่างกับ ยกๆย่างๆ ช้าๆ ที่เห็นเขาทำกันสมัยนี้)

การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติก็ดี การเดินจงกรมก็ดี เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรวมถึงพระพุทธเจ้าท่านทำโดยตลอด ทำสม่ำเสมอ และกระทำสืบเนื่องกันมา น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอริยวินัยได้อยู่ทีเดียว

เมื่อจิตของผู้นั้นเข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ฌานแล้ว ก็เรียกได้ว่าอยู่ใกล้นิพพาน มีโอกาสบรรลุธรรมได้ทุกขณะ ดังท่านว่า “ผู้มีสมาธิ ย่อมเกิดปัญญา” เมื่อปัญญาเกิด วิชา วิมุติ ก็เกิด การเห็นนิพพานอย่างแจ่มแจ้งย่อมมีได้

เหล่านี้คืออริยมรรค อันมี ๘ องค์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้ที่ประพฤติ ปฏิบัติ ตาม ๘ องค์นี้ไปเรื่อยๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน น้อมนำเข้ามาในชีวิตจิตใจ ความเจริญทางโลก หมายถึงการใช้ชีวิตอยู่ในโลก ก็มีแต่เรื่องดีๆ ความเจริญในด้านต่างๆก็มี ความเจริญในทางธรรม ก็มี มีควบคู่กันไป จนในที่สุดผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไปเรื่อยๆ ตัณหาอันฝังแน่นมานานนักหนาเหล่านั้น จะจางคลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุด หมดสิ้น เป็นผู้สิ้นตัณหา มีจิตหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ในโลกต่อไป

ขอจบการอธิบายอริยสัจไว้เพียงเท่านี้

ความละเอียดนี้เป็นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ชาวพุทธทั้งหลายควรที่จะได้ศึกษาปฏิบัติให้ถ่องแท้ เพื่อให้ได้เห็นสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น ให้บรรลุสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุต่อไป

ขอความเจริญจงมีโดยทั่วกันเทอญ

Tag: #พุทธศาสนา #ศาสนาพุทธ #อริยสัจ๔ #มรรค #ทุกข์ #สมุทัย #นิโรธ #มรรค #นิวรณ์๕ #อานาปนสติ #เดินจงกรม #สมาธิ

มหาตัณหาสังขยสูตร — วิญญาณย่อมแล่นไป เป็นมิจฉาทิฐิ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย
มูลปัณณาสก์
. มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยสาติภิกษุมีทิฏฐิลามก

หมวด : ทิฐิ / ศีล / ปฏิจจสมุปบาท / อินทรีย์สังวร / นิวรณ์ ๕ / สมาธิ / สมุทัย / นิโรธ

บทสำคัญ : ทิฐิลามก / มิจฉาทิฐิเกี่ยวกับวิญญาณ / เข้าใจผิดว่าวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด / วิญญาณไม่ได้ท่องเที่ยวไป / ว่าด้วยวิญญาณ / ปฏิจจสมุปบาท / ว่าด้วยสัตว์ / ศีล / สมาธิ / น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย

สารบัญความเกิดแห่งวิญญาณ / ขันธ์ ๕ / อาหาร ๔ อย่าง / ปฏิจจสมุปบาท / การพิจารณา สัตว์ เรา กับอดีต อนาคต ปัจจุบัน / ทารกเกิดเพราะปัจจัย ๓ ประการ / ความกำหนัดในรูปเสียงกลิ่นรส ฯลฯ / ศีลขันธ์ / อินทรีย์สังวร / สติสัมปชัญญะ / นิวรณ์ ๕ / ฌาน / ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น


[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อสาติ ผู้เกวัฏฏบุตร (บุตรชาวประมง) มีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น”

ภิกษุมากรูปด้วยกันได้ฟังว่า ภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตร มีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้ว ถามว่า “ดูกร ท่านสาติ ได้ยินว่า ท่านมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ”

เธอตอบว่า “ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง”

ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตรจากทิฏฐินั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ดูกร ท่านสาติ ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย

ดูกร ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี”

ภิกษุสาติผู้เกวัฏฏบุตรอันภิกษุเหล่านั้น ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่อย่างนี้ก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอันลามกนั้นรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น” ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายไม่อาจเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิ

[๔๔๑] เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรจากทิฏฐินั้นได้จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า

วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น

ครั้งนั้น พวกข้าพระองค์เข้าไปหาสาติภิกษุแล้ว ถามว่า

ดูกร ท่านสาติ ได้ยินว่าท่านมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ

เมื่อพวกข้าพระองค์ถามอย่างนี้ สาติภิกษุได้บอกพวกข้าพระองค์ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง

ในลำดับนั้น พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า

ดูกร ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย

ดูกร ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุอันพวกข้าพระองค์ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่ แม้อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอันลามกนั้น รุนแรง กล่าวอยู่ว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป มิใช่อื่น ดังนี้ จริง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิอันลามกนั้น จึงมากราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค”

[๔๔๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาแล้วตรัสว่า “ดูกร ภิกษุ เธอจงมา เธอจงเรียกสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร ตามคำของเราว่า ดูกร ท่านสาติ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน”

ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงเข้าไปหาสาติภิกษุ แล้วบอกว่า “ดูกร ท่านสาติ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน”

สาติภิกษุรับคำภิกษุนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกร สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามก เห็นปานนี้ เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ”

สาติภิกษุทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูกร สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

สาติภิกษุทูลว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่ว ในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ความเกิดแห่งวิญญาณ }

“ดูกร โมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ดูกร โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว

ดูกร โมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน”

(ตรัสสอบถามเรื่องสาติภิกษุผู้มีความเห็นผิดนั้น)

[๔๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนี้จะเป็นผู้ทำความเจริญในพระธรรมวินัยนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้อนี้จะมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลอย่างนี้แล้ว สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร นั่งนิ่ง กระดาก คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตร มีความเป็นดังนั้นแล้ว จึงตรัสกะเธอว่า “ดูกร โมฆบุรุษ เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิอันลามกของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเหมือนสาติภิกษุ กล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่พวกข้าพระองค์ โดยปริยายเป็นอเนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ดีละ พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงอย่างนี้ ถูกแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยาย เป็นเอนก ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี

ก็แต่สาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรนี้ กล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ความเห็นนั้นของโมฆบุรุษนั้น จักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ)

[๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ อาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณ อาศัยจักษุ {ตา} และรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยโสต {หู} และเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยฆานะ {จมูก} และกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยชิวหา {ลิ้น} และรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะ {สัมผัสทางกาย} ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยมนะ {ใจ} และธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ

เปรียบเหมือนไฟ อาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ

ไฟ อาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้

ไฟ อาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า

ไฟ อาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า

ไฟ อาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟโคมัย

ไฟ อาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ

ไฟ อาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ

ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆเกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณ อาศัยจักษุและรูปทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า จักษุวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยโสตและเสียงทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า โสตวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ฆานวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยชิวหาและรสทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ชิวหาวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า กายวิญญาณ

วิญญาณ อาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่า มโนวิญญาณ”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ว่าด้วย ขันธ์ ๕ }

[๔๔๕] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อม เห็น ขันธปัญจก {ขันธ์ ๕} ที่เกิดแล้ว หรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาคเธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า ขันธปัญจกนั้น เกิด เพราะอาหาร หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายย่อมเห็นว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้นหรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจกนี้ มี หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น หรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “บุคคลเห็นอยู่ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นเสียได้ หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจก เกิด เพราะอาหาร นั้น แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหาร นั้น แม้ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนี้ เกิดแล้ว ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจก เกิดเพราะอาหาร นั้น ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัญจกนั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้น ดังนี้หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค หากว่า เธอทั้งหลาย พึงติดอยู่ เพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถือเป็นของเราอยู่ ซึ่งทิฏฐินี้ อันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) เธอทั้งหลายพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันสลัดออก มิใช่แสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันถือไว้ บ้างหรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค หากว่า เธอทั้งหลาย ไม่ติดอยู่ ไม่เพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถือเป็นของเราอยู่ ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ เธอทั้งหลายพึงรู้ธรรมที่เปรียบด้วยทุ่น อันเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันสลัดออก ไม่ใช่แสดงแล้วเพื่อประโยชน์ในอันถือไว้ บ้างหรือหนอ”

ภิกษุเหล่านั้น “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ปัจจัยแห่งความเกิด)

[๔๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ เพื่อความตั้งอยู่แห่งเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง

อาหาร ๔ อย่าง เป็นไฉน

อาหาร ๔ อย่าง คือ

กวฬิงการาหาร อันหยาบ หรือละเอียด (เป็นที่ ๑)

ผัสสาหาร เป็นที่ ๒

มโนสัญเจตนาหาร เป็นที่ ๓

วิญญาณาหาร เป็นที่ ๔

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

อาหาร ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นชาติ มีตัณหาเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

ตัณหา มีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นชาติ มีเวทนาเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นสมุทัย มีผัสสะเป็นชาติ มีผัสสะเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผัสสะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นสมุทัย มีสฬายตนะเป็นชาติ มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สฬายตนะนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

สฬายตนะ มีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นสมุทัย มีนามรูปเป็นชาติ มีนามรูปเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นามรูปนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

นามรูป มีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นสมุทัย มีวิญญาณเป็นชาติ มีวิญญาณเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

วิญญาณ มีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นสมุทัย มีสังขารเป็นชาติ มีสังขารเป็นแดนเกิด

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารทั้งหลายนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นชาติ มีอะไรเป็นแดนเกิด

สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นชาติ มีอวิชชาเป็นแดนเกิด”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ปฏิจจสมุปบาท }

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

สังขารทั้งหลายมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย

นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย

ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย

เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย

อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย

ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย

ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย

ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย

ด้วยประการฉะนี้แล ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้”

 

[๔๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็ข้อว่า ชราและมรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัยนั่นแล ชราและมรณะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา และมรณะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ชาติมี เพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภพเป็นปัจจัยนั่นแล ชาติจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยนั้นแล ภพจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า อุปาทานมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะตัณหาเป็นปัจจัยนั่นแล อุปาทานจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเวทนาเป็นปัจจัยนั้นแล ตัณหาจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เวทนามี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะผัสสะเป็นปัจจัยนั่นแล เวทนาจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระผู้เจริญ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า ผัสสะมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยนั่นแล ผัสสะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า สฬายตนะมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะนามรูปเป็นปัจจัยนั่นแล สฬายตนะจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนั่นแล นามรูปจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัยนั่นแล วิญญาณจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแล สังขารจึงมี

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

[๔๔๘] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น

เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็มี

เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น

คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมี

ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

(ปัจจัยแห่งความดับ)

เพราะอวิชชาดับหมดมิได้เหลือ สังขารก็ดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้”

 

[๔๔๙] พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะชาติดับ ชรา มรณะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติดับนั่นแล ชรา มรณะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ ก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะภพดับ ชาติก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภพดับนั่นแล ชาติจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะภพดับ ชาติก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอุปาทานดับนั่นแล ภพจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะตัณหาดับนั่นแล อุปาทานจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะผัสสะดับนั่นแล เวทนาจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะผัสสะดับ เวทนาก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสฬายตนะดับนั่นแล ผัสสะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะนามรูปดับนั่นแล สฬายตนะจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะวิญญาณดับนั่นแล นามรูปจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะสังขารดับนั่นแล วิญญาณจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะสังขารดับ วิญญาณก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

พระผู้มีพระภาค “ก็ข้อว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารก็ดับ ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาดับนั่นแล สังขารจึงดับ

ในข้อนี้เป็นอย่างนี้หรือ หรือเป็นอย่างไร”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอวิชชาดับ สังขารก็ดับ ในข้อนี้มีความเป็นอย่างนี้แล”

 

[๔๕๐] พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธอกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ

คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ว่าด้วยธรรมคุณ)

{ การพิจารณา เกี่ยวกับ สัตว์ เรา เทียบกับ อดีต อนาคต ปัจจุบัน }

[๔๕๑] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องต้นว่า

ในอดีตกาล เราได้มีแล้ว หรือว่าไม่ได้มีแล้ว

เราได้เป็นอะไรแล้ว

หรือว่าเราได้เป็นแล้วอย่างไร

หรือเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงแล่นไปสู่ส่วนเบื้องปลายว่า

ในอนาคตกาล เราจักมี หรือว่าจักไม่มี

เราจักเป็นอะไร

หรือว่าเราจักเป็นอย่างไร

หรือเราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ปรารภถึงปัจจุบันกาล ในบัดนี้ ยังสงสัยขันธ์เป็นภายในว่า

เราย่อมมี หรือว่าเราย่อมไม่มี

เราย่อมเป็นอะไร

หรือว่าเราย่อมเป็นอย่างไร

สัตว์นี้มาแล้วจากไหน

สัตว์นั้นจักไป ณ ที่ไหน

ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระศาสดาเป็นครูของพวกเรา พวกเราต้องกล่าวอย่างนี้ ด้วยความเคารพต่อพระศาสดาเท่านั้น ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” { คือไม่ใช่กล่าวเพียงเพราะความเคารพในพระศาสดา }

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงกล่าวว่า พระสมณะตรัสอย่างนี้ พระสมณะทั้งหลายและพวกเรา ย่อมไม่กล่าวอย่างนี้ ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่น ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ พึงเชื่อถือสมาทานวัตรความตื่นเพราะทิฏฐิ และทิฏฐาทิมงคล ของพวกสมณะและพราหมณ์เป็นอันมาก ดังนี้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้น “ข้อนี้ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า”

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่พวกเธอรู้ เห็น ทราบเองแล้ว พวกเธอพึงกล่าวถึงสิ่งนั้น มิใช่หรือ”

ภิกษุเหล่านั้น “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” { คือรู้เห็นเอง จึงกล่าวอย่างนั้น }

 

พระผู้มีพระภาค “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้น ถูกละ พวกเธออันเรานำเข้าไปแล้ว ด้วยธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน

คำที่เรากล่าวว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ให้ผลไม่มีกาลคั่น ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(เหตุแห่งการเกิดในครรภ์)

[๔๕๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการ ความเกิดแห่งทารกก็มี

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่ทารกที่จะมาเกิดยังไม่ปรากฏ ความเกิดแห่งทารก ก็ยังไม่มีก่อน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด () มารดาบิดาอยู่ร่วมกันด้วย () มารดามีระดูด้วย () ทารกที่จะมาเกิดก็ปรากฏด้วย เพราะความประชุมพร้อมแห่งปัจจัย ๓ ประการอย่างนี้ ความเกิดแห่งทารก จึงมี

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มารดาย่อมรักษาทารกนั้นด้วยท้อง เก้า () เดือนบ้าง สิบ (๑๐) เดือนบ้าง เมื่อล่วงไปเก้าเดือนหรือสิบเดือน มารดาก็คลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตน ด้วยความเสี่ยงชีวิตมาก”

[๔๕๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิต ในอริยวินัย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ ไถเล็ก ตีไม้หึ่ง หกขะเมน จังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ รสที่รู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

กุมารนั่นนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ คือ โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดและความรัก

{ กำหนัดใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และอารมณ์ }

กุมารนั้น เห็นรูปด้วยจักษุ {ตา} แล้ว ย่อมกำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นได้ยินเสียงด้วยโสต {หู} แล้ว ย่อมกำหนัดในเสียงที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะ {จมูก} แล้ว ย่อมกำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก {หอม} ย่อมขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง {เหม็น} ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมกำหนัดในรสที่น่ารัก {อร่อย} ย่อมขัดเคืองในรสที่น่าชัง {ไม่อร่อย} ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะ {สัมผัสทางกาย} ด้วยกายแล้ว ย่อมกำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

กุมารนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว {คือใจรับรู้อารมณ์นั้นๆแล้ว} ย่อมกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นอกุศลอยู่ ย่อมไม่ทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งเหล่าอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้

เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ว่าด้วยพุทธคุณ)

[๔๕๔] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ ไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ตถาคตนั้น ทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม แสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดภายหลังในสกุลใดสกุลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้ว ย่อมตระหนักว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ที่เขาขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต”

(ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ)

{ ศีลขันธ์ }

[๔๕๕] เมื่อเขาบวชแล้ว ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย

() ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

() ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่

() ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน

() ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ พูดเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก

() ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายข้างนี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลายข้างโน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน

() ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง อันคนส่วนมากใคร่ พอใจ

() ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร

() เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม

() ฉันหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล

(๑๐) เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล

(๑๑) เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับและตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

(๑๒) เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

(๑๓) เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

(๑๔) เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

(๑๕) เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

(๑๖) เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

(๑๗) เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

(๑๘) เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

(๑๙) เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

(๒๐) เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

(๒๑) เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

(๒๒) เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

(๒๓) เว้นขาดจากการซื้อและการขาย

(๒๔) เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

(๒๕) เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

(๒๖) เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการกรรโชก

(๒๗) ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง จะไปทางทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง นกมีปีกจะบินไปทางทิศาภาคใดๆก็มีแต่ปีกของของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิศาภาคใดๆก็ถือไปได้เอง

ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ อินทรีย์สังวร }

“ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุนั้นได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาโสตินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในโสตินทรีย์

ภิกษุนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาฆานินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในฆานินทรีย์

ภิกษุนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษชิวหินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์

ภิกษุนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษกายิทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในกายิทรีย์

ภิกษุนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์

ภิกษุนั้นประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ สติสัมปชัญญะ }

“ภิกษุนั้นย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง”


(การชำระจิต)

{ นิวรณ์ ๕ }

[๔๕๖] ภิกษุนั้น ประกอบด้วย ศีลขันธ์ อินทรียสังวร และสติสัมปชัญญะ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตในกาลภายหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

() เธอละความเพ่งเล็ง {ความเพ่งเล็งมักแปลว่า ความโลภ แต่อีกคำหนึ่งคือ กามฉันทะ คือความกำหนัดในสุขทางกาย เพราะ กามฉันทะ มักเป็นข้อที่ ๑ ใน นิวรณ์ ๕ เสมอ} ในโลกแล้ว มีใจปราศจากเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้

() เธอละความประทุษร้าย คือพยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือ พยาบาทได้

() เธอละถีนมิทธะ {ความง่วงเหงาหาวนอน} ได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้

() เธอละอุทธัจจกุกกุจจะ {ความฟุ้งซ่าน} ได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้

() ละวิจิกิจฉา {ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม} ได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิกิจฉาได้”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


{ ฌาน }

[๔๕๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว

() สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

() บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

() บรรลุตติยฌา มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเรียกเธอได้ว่า เป็นผู้วางเฉย มีสติ อยู่เป็นสุขอยู่

() บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัส ในก่อนๆได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”

[ไปบนสุด][ไปล่างสุด]


(ความดับอกุศลธรรม)

{ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น }

[๔๕๘] ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในเสียงที่น่ารัก {เพราะ} ย่อมไม่ขัดเคืองในเสียงที่น่าชัง {ไม่เพราะ} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในกลิ่นที่น่ารัก {หอม} ย่อมไม่ขัดเคืองในกลิ่นที่น่าชัง {เหม็น} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในรสที่น่ารัก {อร่อย} ย่อมไม่ขัดเคืองในรสที่น่าชัง {ไม่อร่อย} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะที่น่ารัก {สัมผัสทางกายอันเป็นสุข หรือที่ชอบ} ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพะที่น่าชัง {สัมผัสทางกายที่ไม่ชอบ หรือเป็นทุกข์} เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย ก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

 

ภิกษุนั้นรู้แจ้งธรรมารมณ์ {การรับรู้อารมณ์ของใจ หรือความนึกคิดต่างๆ} ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง เป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมทราบชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับหมดแห่งอกุศลธรรมอันลามกตามความเป็นจริง

เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจ เวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายก็ดับไป

เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานก็ดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพก็ดับ

เพราะภพดับ ชาติก็ดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ของภิกษุนั้นก็ดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนั้น

 

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติโดยย่อของเรานี้ อนึ่ง พวกเธอจงทรงจำสาติภิกษุผู้เกวัฏฏบุตรว่า เป็นผู้สวมอยู่ในข่ายตัณหา และกองตัณหาใหญ่ ดังนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

จบ มหาตัณหาสังขยสูตร ที่ ๘

[ไปบนสุด]

ยมกสูตร — พระอรหันต์ตายแล้วย่อมขาดสูญ เป็นมิจฉาทิฐิ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙)
สังยุตตนิกาย
ขันธวารวรรค
. ยมกสูตร
ว่าด้วยพระขีณาสพตายแล้วสูญหรือไม่

หมวด: ทิฐิ สักกายทิฐิ

บทสำคัญ: ขันธ์ ๕ / สัตว์ บุคคล อัตตา อนัตตา ทุกข์ จิต / อุปาทานขันธ์ ๕


[๑๙๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ยมกภิกษุ เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า

เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก{ความเข้าใจนี้ ยังเห็นว่า พระขีณาสพยังมีตัวมีตนอยู่ คือมีการเกิด การตาย}

ภิกษุหลายรูปได้ฟังแล้วว่า “ได้ยินว่ายมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเป็นปานนี้ว่า

เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก”

ครั้งนั้นภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาท่านยมกภิกษุถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกภิกษุ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว จึงถามท่านยมกภิกษุว่า

ดูกร ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ว่าทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก จริงหรือ”

ท่านพระยมกะกล่าวว่า “อย่างนั้น อาวุโส”

ภิกษุเหล่านั้น “ดูกร อาวุโสยมกะ ท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น อย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะการกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก”

ท่านพระยมกะ เมื่อถูกภิกษุเหล่านั้นกล่าวแม้อย่างนี้ ยังขืนกล่าวถือทิฏฐิอันชั่วช้านั้น อย่างหนักแน่นอย่างนั้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก”

ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่อาจเพื่อจะยังท่านพระยมกะให้ถอนทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้ จึงลุกจากอาสนะ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ยมกภิกษุเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ขอโอกาสนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปหายมกภิกษุถึงที่อยู่ เพื่ออนุเคราะห์เถิด”

ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

 

[๑๙๙] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้ว เข้าไปหาท่านพระยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับท่านยมกะ ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านยมกะว่า “ดูกร อาวุโสยมกะ ทราบว่าท่านเกิดทิฏฐิอันชั่วช้าเห็นปานนี้ว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก ดังนี้ จริงหรือ”

ท่านพระยมกะตอบว่า “อย่างนั้นแล ท่านสารีบุตร”

 

ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ท่านพระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ท่านพระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ท่านพระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “สังขาร เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ท่านพระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

ท่านพระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “เพราะเหตุนี้นั้นแล ท่านยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด

เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น

เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว

ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก”

 

[๒๐๐] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ท่านเห็นรูป ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นเวทนา ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นสัญญา ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นสังขาร ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นวิญญาณ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

[๒๐๑] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล มีในรูป หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่าสัตว์ บุคคล อื่น จากรูป หรือ” {อื่นจากรูปหรือ คือ ไม่มีในรูป}

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล มีใน เวทนา หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล อื่นจาก เวทนา หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล มีใน สัญญา หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

{ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล อื่นจาก สัญญา หรือ

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”}

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล มีใน สังขาร หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล อื่นจาก สังขาร หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล มีใน วิญญาณ หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

ท่านพระสารีบุตร “ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล อื่นจาก วิญญาณ หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

[๒๐๒] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็น สัตว์ บุคคล หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

[๒๐๓] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเห็นว่า สัตว์ บุคคล นี้นั้น ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ หรือ”

ท่านพระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่าน”

 

ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหา สัตว์ บุคคล ในขันธ์ ๕ เหล่านี้ ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วว่า พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่เกิดอีก

ท่านพระยมกะ “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้อย่างนี้ จึงได้เกิดทิฏฐิอันชั่วช้าอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ ผมละทิฏฐิอันชั่วช้านั้นได้แล้ว และผมก็ได้บรรลุธรรมแล้วเพราะฟังธรรมเทศนานี้ของท่านพระสารีบุตร”

 

[๒๐๔] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ท่านยมกะ ภิกษุผู้ที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนั้น จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร”

 

ท่านพระยมกะ “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ถ้าเขาถามอย่างนั้น ผมพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า

รูป แลไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

เวทนา ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

สัญญา ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

สังขาร ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

วิญญาณ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงแล้วซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้

ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมถูกเขาถามอย่างนั้น พึงกล่าวแก้อย่างนี้”

 

[๒๐๕] ท่านพระสารีบุตร “ดีละๆ ท่านยมกะ ถ้าอย่างนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อหยั่งรู้ความข้อนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น

ดูกรท่านยมกะ เปรียบเหมือนคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขารักษาตัวกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งประสงค์ความพินาศ ประสงค์ความไม่เป็นประโยชน์ ประสงค์ความไม่ปลอดภัย อยากจะปลงชีวิตเขาเสีย เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า

คฤหบดีและบุตรคฤหบดีนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีการรักษาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลงชีวิตนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่ายเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงใช้อุบายปลงชีวิต

บุรุษนั้นพึงเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอเป็นคนรับใช้ท่าน

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงรับบุรุษนั้นไว้ใช้ เขาพึงรับใช้เรียบร้อยดีทุกประการ คือ มีปรกติตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น เชื่อเขาโดยความเป็นมิตร โดยความเป็นสหาย และถึงความไว้วางใจในเขา

เมื่อใด บุรุษนั้นพึงคิดว่า คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีไว้ใจเราดีแล้ว เมื่อนั้น บุรุษนั้นรู้ว่าคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีอยู่ในที่ลับ พึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม

 

ท่านยมกะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีโน้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ผมขอรับใช้ท่าน แม้ในกาลนั้นเขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่

ในกาลใด บุรุษนั้นตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติให้เป็นที่พอใจ กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักใคร่ แม้ในกาลนั้นเขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าอยู่แล้ว ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษผู้ฆ่านั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่

และในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่าคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่ในที่ลับ จึงปลงชีวิตเสียด้วยศาตราอันคม แม้ในกาลนั้นเขาเป็นผู้ฆ่านั่นเอง ก็แต่คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นหารู้จักบุรุษนั้นว่าเป็นผู้ฆ่าเราไม่”

 

ท่านพระยมกะ “อย่างนั้น ท่าน”

 

[๒๐๖] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ข้ออุปมานี้ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ย่อมเห็นรูป โดยความเป็นตน {คำว่า โดยความเป็นตน คือ เห็นรูปเป็นตน}

ย่อมเห็นตน มีรูป

ย่อมเห็นรูป ในตน

หรือย่อมเห็นตน ในรูป

 

ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีเวทนา ย่อมเห็นเวทนาในตน หรือย่อมเห็นตนในเวทนา

ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสัญญา ย่อมเห็นสัญญาในตน หรือย่อมเห็นตนในสัญญา

ย่อมเห็นสังขารโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีสังขาร ย่อมเห็นสังขารในตน หรือย่อมเห็นตนในสังขาร

ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือย่อมเห็นตนในวิญญาณ

 

เขาย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ว่าเป็นอนัตตา

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ว่าอันปัจจัยแต่ง

ย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า

 

เขาย่อมเข้าไป ถือมั่น ยึดมั่น ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันปุถุชนนั้นเข้าไปถือมั่น ยึดมั่น แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน”

 

[๒๐๗] ท่านพระสารีบุตร “ดูกร ท่านยมกะ ส่วนพระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำในอริยธรรมดีแล้ว ได้เห็นสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรมดีแล้ว

ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน

ย่อมไม่เห็นตนมีรูป

ย่อมไม่เห็นรูปในตน หรือ

ย่อมไม่เห็นตนในรูป

 

ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีเวทนา ย่อมไม่เห็นเวทนาในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในเวทนา

ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีสัญญา ย่อมไม่เห็นสัญญาในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในสัญญา

ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีสังขาร ย่อมไม่เห็นสังขารในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในสังขาร

ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ

 

เขาย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ว่าเป็นทุกข์

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ว่าเป็นอนัตตา

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ว่าปัจจัยปรุงแต่ง

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นผู้ฆ่า ว่าเป็นผู้ฆ่า

 

เขาย่อมไม่เข้าไปถือมั่น ยึดมั่น ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา

 

อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันอริยสาวกนั้น ไม่เข้าไปถือมั่นยึดมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน

 

ท่านพระยมกะ “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้เช่นนั้นเป็นผู้อนุเคราะห์ ใคร่ประโยชน์ เป็นผู้ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้นแท้ ก็แลจิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่น เพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร”

จบ สูตรที่ ๓

ข้อศึกษา: พระอรหันต์ไม่ยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อตายไป คือเข้านิพพาน จะเรียกว่า ขันธ์ ๕ นั้น ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ หรือดับไป ไม่ได้เรียกว่า ท่านตายไปแล้ว ขาดสูญ พินาศ หรือไม่เกิดอีก